‘สภาพัฒน์’ ชี้ปี 64 ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก พร้อมจับตา ‘ม็อบ’ ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ

‘สภาพัฒน์’ ชี้ปี 64 ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก พร้อมจับตา ‘ม็อบ’ ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ประเมินว่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ยังต้องอาศัยเศรษฐกิจในประเทศ เป็นตัวขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้มาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในประเทศระยะถัดไป ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยต้องติดตามปัจจัยการการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยเท่าใด มาทันเวลาหรือไม่ ซึ่งการมาของวัคซีนในช่วงนั้น จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่มีอยู่ได้หรือไม่ รวมถึงประเมินสถานการณ์ในต่างประเทศร่วมด้วย จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางได้มากนัก โดยในปี 2564 จะเป็นปีที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน รวมถึงต้องพยายามดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นตัวช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ให้ก้าวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

“สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งเดินหน้าในปี 2564 เนื่องจากประเทศไทย ไม่ต้องพยายามแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 ในประเทศ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ยังพยายามควบคุมกันอยู่ ทำให้ต้องหันมาแก้ไขปัญหาในด้านภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ ที่หากสามารถเตรียมตัวได้ดี วัคซีนต้านไวรัสใช้งานได้ดีและสามารถกระจายได้ดี มีการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด โดยมองว่า ในปี 2564 ยังเป็นปีที่ต้องบริหารประเทศภายใต้ความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงในปี 2564 นอกจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังต้องติดตามนโยบายของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายของสหรัฐอเมริกา ในส่วนของสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่แม้มีประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว แต่ก็ต้องติดตามว่าจะมีความเข้มข้นในการนโยบายมากหรือน้อยอย่างไร รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ (เบร็กซิท)

นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ที่หากใช้สิทธิโดยที่ไม่กระทบบุคคลอื่น หรือผิดกฎหมายก็อาจไม่เป็นไร แต่หากผิดกฏหมายก็ต้องเดินตากระบวนการทางกฏหมายต่อไป ซึ่งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางค่าเงินบาท ที่หากแข็งค่ามากเกินไป จะเป็นตัวฉุดรั้งภาคการส่งออกไทย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ต้องพยายามดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้ว เพราะประเทศไทยส่งออกได้ดี และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด รวมถึงอัตราการนำเข้าสินค้ารทุนต่ำ เพราะการลงทุนในประเทศชะลอตัวลง ทำให้ในปี 2564 หากไทยสามารถปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมได้ ในการนำเข้าเครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยลดความแข็งค่าของค่าเงิน

Advertisement

“ค่าเงินบาทแข็ง มีสาเหตุมาจากการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) และดันค่าเงินบาทให้แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งส่วนนี้คงทำอะไรได้มาก ภาคอุตสากรรมไทยจึงต้องอาศัยจังหวะการแข็งค่าของเงินบาท ในการปรับปรุงโรงงานผลิตของตนเอง เพื่อให้ในระยะถัดไป หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น อุตสาหกรรมไทยจะสามารถเดินหน้าและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด” นายดนุชา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image