สกู๊ปหน้า1 : ของขวัญปีใหม่’64 เทรนด์ฮิตยุคโควิด

นับถอยหลังสู่ปีใหม่ 2564 ของหลายคน ต่างก็มีจุดหมายแตกต่างกันไป บางคนอยากใช้วันหยุดยาวเพื่อพักผ่อนกับครอบครัว เดินทางท่องเที่ยว บางคนเลือกสังสรรค์กันเฉพาะในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ก็จะมาพร้อมกับการเลือกซื้อของพิเศษ จะใช้สำหรับปีใหม่ รวมถึงการสรรหาของขวัญปีใหม่สำหรับคนที่รักหรือนับถือ

ในโอกาสพิเศษของปีใหม่แต่ละปีก็จะมีผู้ผลิตคิดค้นหาสินค้าที่โดดเด่น เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย หลายปีที่ผ่านมาสินค้ารับปีใหม่ ก็จะตื่นตัวไปพร้อมกับการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่สำหรับปีใหม่ 2564 น่าจะเป็นปีพิเศษที่แตกต่างจากที่เคยมา เพราะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

มติชนได้สำรวจและสอบถามผู้ประกอบการสำหรับการเตรียมตัวในปีใหม่ที่จะถึงในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ผู้ประกอบการได้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก กลุ่มที่รักการเก็บบรรยากาศปีใหม่ผ่านการท่องเที่ยว จากการเก็บสำรวจคนตั้งใจเที่ยวในปีใหม่นี้ของ บุ๊กกิ้งดอตคอม (Booking.com) พบว่า ทริปท่องเที่ยวมาแรงในปี 2564 แยกได้ถึง 5 ส่วน ได้แก่ 1.ลุยเดี่ยวก็เที่ยวได้ ส่วนนี้คนไทยมีเพียง 17% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีถึง 40% 2.ขอเพียงได้ผ่อนคลาย แบบนี้คนไทย 77% ระบุว่าจะทำ 3.ตัวอยู่ไกลแต่ใจใกล้กัน เป็นใช้เวลาหยุดยาวมาเจอกันเพื่อเดินทางซึ่งคนไทยมีถึง 78% เลือกทางนี้

4.สนุกสุดสัปดาห์ กว่า 62% คนไทยระบุว่า จะใช้สิทธินี้ และ 5.เที่ยวด้วยอร่อยด้วย ส่วนนี้เกิดจากไปต่างประเทศไม่ได้ จึงเลือกตระเวนชิมอาหารเลิศรส ซึ่ง 52% เลือกแนวนี้ ส่วนนี้ก็อยากได้ของขวัญ แพคเกจราคาพิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวจึงเชื่อว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐเติมเพิ่มเงื่อนไข จะเป็นแรงผลักดันของขวัญเพื่อการท่องเที่ยวได้บูมขึ้น

Advertisement

ส่วนของขวัญอีกแบบ คือ เลือกสินค้าหรือบริการเพื่อการมอบแทนคำอวยพร ส่วนนี้ “จิรบูลย์ วิทยสิงห์”นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทย และประธานสมาพันธ์ของขวัญอาเซียน เล่าให้ฟังว่า ปีใหม่ปีนี้อยู่ในช่วงความวิตกเรื่องโควิดระบาดรอบ 2 พอดี และไม่ชัดเจนว่าการแพร่ระบาดจะจบลงเมื่อไหร่แน่ ประเภทของขวัญที่นิยมจัดเตรียมและมอบให้กัน จึงสอดคล้องกับการป้องกันไวรัส และการดูแลสุขภาพไม่พร้อมกัน จะมีการจัดเป็นเซต (ชุดของขวัญ) ชุดของขวัญที่นิยมซื้อกันในขณะนี้ อาทิ ชุดของขวัญเพื่อป้องกันโวรัส ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอลล์พ่นฆ่าเชื้อ และครีมบำรุงมือ หากเป็นชุดเพื่อเดินทาง จะเพิ่มสายรัดกระเป๋า อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ถุงมือ เป็นต้น

อีกกลุ่มสินค้ายอดนิยมคือสินค้าเพื่อเวิร์กฟรอมโฮม เช่น ลำโพง ที่ตั้งมือถือ อุปกรณ์ต่อเชื่อมเพื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือในระยะไกล เป็นต้น รวมถึงชุดเพื่อความงามและคลายเครียด หรืออุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมถึงต้นไม้มงคล ก็ยังได้รับความนิยม

“สินค้าที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีและการสื่อสาร คือ การแปลงจากการใส่การ์ดอวยพร หรือบัตร ส.ค.ส. มาเป็นคลิป หรือหนังสั้นๆ ของคนในกลุ่มองค์กร หรือกลุ่มเพื่อนทำงาน หรือกลุ่มคนในครอบครัว แล้วส่งผ่านมือถือ สามารถส่งถึงกลุ่มคนในประเทศไทย และที่อยู่ในต่างประเทศที่ไม่อาจเดินทางมาพบปะหรือเข้าประเทศไทยได้ ขณะที่กระเช้าของขวัญที่ประกอบด้วยเครื่องดื่มและของกินของใช้จะบางตาลง”จิรบูลย์กล่าว

Advertisement

เมื่อสอบถามถึงบรรยากาศการมอบของขวัญ จิรบูลย์ระบุว่า ปีก่อนที่ว่าการสั่งจองสั่งซื้อช้ามากแล้ว จากปกติเริ่มคึกคักปลายตุลาคม มาเป็นปลายพฤศจิกายน ปีนี้ทั้งล่าช้าและเงียบเหงา บรรยากาศการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเป็นของขวัญเพิ่งมาเริ่มต้นเดือนธันวาคม ในประเทศไทยเราแบ่งตลาดของขวัญออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

ส่วนแรก ตลาดส่งออกของขวัญ ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อและการสต๊อกสินค้าตามค้าปลีก หดหายไปมาก ปี 2563 น่าจะหดหายไปกว่า 10% หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท จากปีก่อนมูลค่าส่งออกประมาณ 24,000 ล้านบาท ก็จะเหลือประมาณ 21,600 ล้านบาท ขณะนี้หลายประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อ อาจเพราะมีความหวังต่อการพัฒนาวัคซีนฆ่าไวรัสคืบหน้า ส่งผลจิตวิทยาต่ออารมณ์อยากเฉลิมฉลองและการตกแต่งบ้านเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและต้นทุนค่าระวางเรือสูงมาก หากลดปัญหานี้ได้และวัคซีนต้านไวรัสออกมาได้กลางปีหน้า ปี 2564 การส่งออกของขวัญและของตกแต่งไทยจะขยายตัวได้ 2-4% หรือมีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาท

ส่วนที่สอง คือ ตลาดของขวัญที่องค์กรต่างๆ จัดทำขึ้นเฉพาะเพื่อมอบให้ลูกค้า ธุรกิจระหว่างองค์กร และประชาชนทั่วไป ส่วนนี้แนวโน้มลดลงทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจและการลดจำนวนขององค์กร ในอดีตจะมีบริษัทใหญ่ชั้นนำประมาณ 200 กว่าองค์กร ในแต่ละปีจะสั่งของขวัญต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของมูลค่าตลาดประมาณ 11,000 ล้านบาท หรือประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ลดลงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้มูลค่าน่าจะเหลือ 6,000-7,000 ล้านบาท

ส่วนที่สาม คือ ตลาดของขวัญทั่วไปในประเทศ ยอมรับว่าปีนี้ประเมินยากมากว่ากำลังซื้อจะเป็นอย่างไร และประเภทของขวัญที่อยากซื้อ นอกจากชุดป้องกันไวรัสและดูแลสุขภาพแล้ว จะเป็นอะไรได้บ้าง จากเดิมจะนิยมตุ๊กตา ชุดถ้วยชาม ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งอาคารหรือที่พักเพื่อสร้างสีสัน กระเป๋าผ้า กระเป๋าสาน ของที่ระลึกประจำถิ่น ของที่ระลึกชุมชนจังหวัด เครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น แต่ละปีจะมีเงินสะพัดประมาณ 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หากรวมกับของขวัญที่เป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับอัญมณีและทองคำ และของที่ระลึกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เคาต์ดาวน์ และปีใหม่น่าจะเป็นเทศกาลเดียวที่จะได้พบปะรู้จักคนจากนานาชาติพร้อมกันในคราวเดียว ตลาดของขวัญก็คิดเป็นสัดส่วน 24% ของเงินสะพัดในภาคท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่สำหรับปีนี้เมื่อนักท่องเที่ยวหายหมดตามโควิด เงินสะพัดของขวัญก็จะหายเกลี้ยงไปด้วยกัน

ขณะเดียวกันสมาคมฯของขวัญ สำรวจความต้องการของผู้ค้าและพนักงานองค์กรต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า กว่าครึ่งระบุว่า แค่ได้รับคำอวยพร และไม่ถูกเลิกจ้างในปี 2564 ก็ถือว่าเป็นของขวัญชิ้นพิเศษแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image