‘ททท.’ รับพบพฤติกรรมทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จริง ยันเอาผิดถึงที่สุด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร
นายยุทธศักดิ์ สุภสร / แฟ้มภาพ

‘ททท.’ รับพบพฤติกรรมทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จริง ยันเอาผิดถึงที่สุด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า กรณีสิทธิจจองจำนวนห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จำนวน 5 ล้านห้องแรกในระยะแรก ในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ใช้สิทธิจองไปจนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และพบสิทธิจำนวนห้องคงเหลือเป็นศูนย์ จากวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา จำนวนห้องพักยังเหลือกว่า 225,922 คืน โดย ททท.ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ในการวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีกรณีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมีทั้งในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม และในส่วนของร้านค้าที่รับชำระผ่านคูปองใช้จ่าย

“มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นยังคงไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังต้องตรวจสอบจำนวนห้องพักที่มีความผิดปกติต่อไป จึงมองว่าอาจยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นความเสียหายได้ในทันที เพราะต้องประเมินว่ามีจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เข้าข่ายต้องสงสัยถูกจองทั้งหมดกี่ห้อง และอยู่ในกรณีใดบ้าง โดยขณะนี้มีชื่อโรงแรมที่เข้าข่ายต้องสงสัยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก จึงต้องดำเนินการตรวจสอบจำนวนห้องพักที่ถูกใช้จริงทั้งหมดต่อไป” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สามารถสรุปรูปการทำธุรกรรม ได้แก่ 1.การเข้าเช็กอินในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้มีการเข้าพักจริง ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการใช้สิทธิคูปองใช้จ่ายวันธรรมดา 900 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ 600 บาท 2.โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องพัก โดยร่วมมือกับร้านอาหาร หรือร้านค้าที่รับชำระคูปอง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการซื้อขายสิทธิการใช้ห้องพัก แต่ไม่ได้เกิดการเดินทางจริง ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้สามารถกระทำลักษณะดังกล่าวได้เป็นเพราะที่ผ่านมามีการปลดล็อกเงื่อนไขให้สามารถใช้สิทธิเดินทางท่องเที่ยวได้ในภูมิลำเนาของตนเอง โดยเป็นการกระทำในแบบผู้ได้สิทธิร่วมมือกับโรงแรม ส่งเลขบัตรประชาชน 4 หลักสุดท้าย และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสามารถใช้รับรหัสโอทีพียืนยัน ถือเป็นการโอนสิทธิได้ และ 3.โรงแรมที่ยังไม่กลับมาเปิดตามปกติ แต่มีตัวตนและลงทะเบียนตามปกติ ซึ่งมีการขายห้องพักเหมือนกลับมาเปิดเป็นปกติแล้ว ซึ่งกรณีนี้มีการตรวจพบทั้งการจองผ่านโรงแรมโดยตรง และการจองผ่านช่องทางตัวแทนออนไลน์ (โอทีเอ) ด้วย

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อว่า 4.เป็นการเติมเงินเพื่อรับส่วนต่าง 40% ในการสนับสนุนค่าห้องพักจากรัฐบาล โดยจะเห็นว่ามีการใช้สิทธิห้องพักเต็มจำนวนแบบผิดปกติ 5.มีการเข้าพักจริง แต่เข้าพักแบบเป็นกรุ๊ปเหมา โดยตั้งราคาห้องพักในระดับสูง และสามารถรับเงินส่วนต่างที่ตกลงกันไว้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงแรมและผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่จองตรงกับโรงแรม และ 6.โรงแรมที่เปิดขายห้องพักเกินจำนวนจริงที่มี อาทิ มีห้องพักจริง 100 ห้อง แต่เปิดขาย 300 ห้อง ซึ่งจำนวนห้องที่เกินมาจะนำไปขายต่อให้กับโรงแรมอื่น เพื่อรับประโยชน์จากเงินส่วนต่าง

Advertisement

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ที่ผ่านมาได้รับรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการตรวจสอบอยู่ตลอดเช่นกัน เพราะในการดำเนินงานได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการออก ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายใน ไม่ได้เป็นประเด็นที่เปิดเผยออกมา แต่หลังจากที่มีการปลดล็อกเงื่อนไขให้เที่ยวภายในภูมิลำเนาได้ พบว่ามียอดจองใช้สิทธิในโครงการเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ ในช่วงก่อนขยายเวลาการใช้โครงการรอบแรก ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม มีการจองประมาณ 14,000 ห้องต่อวัน และเมื่อเพิ่มห้องพักให้จาก 5 สิทธิเป็น 10 สิทธิ มีการจองประมาณ 20,000 ห้องต่อวัน และเมื่อขยายเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนตุลาคมเป็นต้นมา และการปลดล็อกภูมิลำเนา พบจำนวนการใช้สิทธิ 54,000 ห้อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะต้องมีการตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ธุรกรรมที่ต้องสงสัยมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรมและร้านค้า จากข้อมูลที่มีพบว่า มีโรงแรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมต้องสงสัยจำนวนประมาณ 312 ราย ในส่วนของร้านค้ามีประมาณ 200 ราย โดย ททท.จะดำเนินการตรวจสอบกรณีที่ต้องสงสัยโดยด่วน ซึ่งแบ่งกรณีการตรวจสอบออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1.มีการจอง เข้าพัก และทำการจ่ายเงินแล้ว หากพบว่ามีการทุจริตต่อโครงการจะดำเนินคดีอย่างหนักทั้งทางแพ่งและอาญา 2.จองแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าพักและชำระเงิน จะให้ระงับการจ่ายเงินสำหรับธุรกรรมที่น่าสงสัยไว้ก่อน โดยจะประสานกับคลังและกรุงไทย และ 3.จองแล้วยังไม่ได้เช็กอินและชำระเงิน จะมีการตรวจสอบต่อไป โดยยืนยันว่าขณะนี้มีแนวทางการตรวจสอบที่ชัดเจน และมีทิศทางในการดำเนินการกับผู้ทุจริตอย่างหนัก

Advertisement

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ จากเดิมที่จะเปิดให้ใช้สิทธิเพิ่มเติม 1 ล้านห้องพัก ซึ่งกำหนดเดิมในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ โดยจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อเลื่อนออกไปก่อน จึงจะเห็นว่าบนหน้าเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกันดอทคอมได้ขึ้นประกาศว่าเตรียมตัวให้พร้อม เราเที่ยวด้วยกัน เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิเร็วๆ นี้ โปรดติดตามข่าวสารและประกาศจากโครงการ หรือ ททท.อีกครั้ง เพื่อให้มีการตรวจสอบ และมีการป้องกันการทุจริตเพิ่มเติม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2563 น่าจะถูกจองที่พักจนครบแล้ว แต่อาจยังไม่เดินทางสำหรับคนทั่วไป

“ขณะนี้มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการกว่า 8,000 ราย มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายต้องสงสัย 312 ราย ร้านอาหาร 65,000 ราย ต้องสงสัยเพียง 200 รายเท่านั้น จึงสะท้อนว่าโครงการดังกล่าวพยายามป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ทำให้ในภาพรวมยังสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ใช้การท่องเที่ยวเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังกับผู้ที่จะเข้ามาฉวยโอกาสในการหาประโยชน์ด้วย โดยยืนยันว่าคณะทำงานมีแนวทางในการเข้าไปตรวจสอบ และจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของโครงการต่อไป” นายยุทธศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image