กนอ.ประกาศเดินหน้าแผนปี’64 ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน

กนอ.ประกาศเดินหน้าแผนปี’64 ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Industry Toward 2021” ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2564 หลังสถานการณ์โควิด-19 ในงานฉลองครบรอบ 48 ปี การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) “The Journey of Sustainable Partnership” ว่า ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงฯได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายหลายประการที่เป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา ประการแรก คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่นๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม

ประการที่สอง : การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ช่วยสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน ประการที่สาม : การส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมที่เป็น มิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการกนอ. กล่าวว่า ปัจจุบันกนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 60 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 46 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,654 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 4,011,699 ล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,085 โรงงาน มีแรงงานสะสม 524,768 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของ กนอ.ในการพัฒนาองค์กรและสร้างบุคลากรทุกระดับที่เน้นสร้างมิติใหม่ให้กับงานบริการที่เป็นเลิศผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย

ทั้งนี้ในปี 2564 กนอ.ยังดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าก่อสร้างโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนร่วมทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ที่คาดว่าน่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2564 -2567 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

Advertisement

2.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง ก่อนเสนอคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการ กนอ. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเผยแพร่ TOR เพื่อให้มีการประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานก่อสร้างและควบคุมงาน โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 ทั้งนี้ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน

3. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดสงขลา เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมและการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image