ผู้ว่าการททท. นำรายชื่อโรงแรม-ร้านอาหาร 515 แห่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน มอบให้ตร. สืบสวนดำเนินคดี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) นำข้อมูลโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร จำนวน 515 แห่ง ที่ต้องสงสัยทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มามอบให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ทำการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิด
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้มารับหนังสือ โดยทราบว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยทางเจ้าของแอพพลิเคชั่น รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายฉ้อโกงเงินของรัฐบาล จึงได้ส่งเอกสารมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบผู้เข้าข่ายกระทำความผิด เบื้องต้นพบว่ามีหลายโรงแรม ร้านค้าๆ เข้าข่ายกระทำความผิด ทั้งนี้ทาง ตร. จะมอบหมายให้กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) เป็นผู้รับผิดชอบคดี และเสนอให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนในนาม ตร. เพื่อให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ที่มีร้านค้าหรือโรงแรมที่เกี่ยวข้อง ได้เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในการดำเนินคดี ซึ่งตำรวจจะเร่งทำการตรวจสอบและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องดำเนินคดีอาญา เราพยายามทำให้เร็วที่สุด เนื่องจากไม่อยากให้โครงการเฟสใหม่ชะลอลงไป และไม่อยากให้มีการทุจริตเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ฝากเตือนผู้ประกอบการร้านค้า และประชาชน ที่อาจกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะตำรวจมีวิธีการสืบสวนสอบสวน ซึ่งท่านจะหนีไม่พ้นความผิด ทั้งนี้โรงแรมหรือร้านค้าใด ต้องการเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนตัว ตนก็ยินดี สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดส่วนตัว แต่รัฐเป็นผู้เสียหาย หากผู้เสียหายยินยอม อาจจะถอนคำร้องทุกข์ได้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังการยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลผู้เข้าข่ายกระทำความผิดในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากพบความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น พร้อมกับรายชื่อผู้ประกอบการที่ต้องสงสัย โดยพบว่าโรงแรมที่เข้าข่ายผิดปกติมีจำนวนประมาณ 312 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก เพราะขยับได้คล่องตัวมากกว่า และมีร้านค้าที่ต้องสงสัยประมาณ 202 ราย ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากต้องมีการประเมินธุรกรรมที่มีความผิดปกติว่า มีการทำผิดจริงให้ชัดเจนก่อน แต่ยืนยันว่า หากมีการทำผิดจริงทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือผู้ใช้สิทธิ จะดำเนินคดีตามกฏหมายให้ถึงที่สุด เพราะเราเที่ยวด้วยกัน ถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจากเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะวิกฤต
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเพิ่มจำนวนสิทธิอีก 1 ล้านห้อง แต่ต้องชะลอไปก่อนนั้น ประเมินว่าอาจส่งผลกระทบกับผู้ที่รอใช้สิทธิได้บ้าง แต่หากประเมินจากตัวผู้ที่เข้าใช้บริการห้องพักจริง จากยอดการจองทั้งหมด มีการเข้าใช้แล้วไม่เกิน 2 ล้านห้อง ทำให้ยังเหลือสิทธิที่ใช้ได้อีก 3 ล้านห้อง จึงน่าจะครอบคลุมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้แล้ว รวมถึงระยะเวลาโครงการได้ขยายจนถึงเดือนเมษายน 2564 ทำให้ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบางกลุ่มที่รอการลงทะเบียนในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เพื่อจองการท่องเที่ยวอีกครั้งในช่วงปีใหม่ ซึ่งก็จะเสียโอกาสไป ทำให้การพบผู้เข้าข่ายกระทำความผิดในเราเที่ยวด้วยกัน กระทบกับผู้ที่ตั้งใจออกเดินทางจริงๆ ต้องชะลอออกไป เรื่องแบบนี้จึงไม่ควรจะเกิดขึ้น ทำให้นอกจากการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังต้องใช้รูปแบบให้สังคมลงโทษ ซึ่งมองว่าจะเห็นผลเร็วกว่ามาก
“โค้งสุดท้ายการท่องเที่ยวในประเทศ ตัวเลขการเดินทางน่าจะใกล้ 100 ล้านคน-ครั้ง เพราะ 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) มีการเดินทางสะสม 65 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เห็นตัวเลขการเดินทางดีดขึ้นมาประมาณ 15 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งใกล้ค่าเฉลี่ยการเดินทางในประเทศแต่ละเดือนในปี 2562 อยู่ที่ 18 ล้านคน-ครั้ง ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน จะเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน-ครั้ง แม้จะเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ภาคเหนือ และเกิดการชะลอการเดินทางลง แต่ยังหวังว่าในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน-ครั้ง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และหากเทียบกับปี 2562 ที่มีการเดินทางในประเทศ 172 ล้านคน-ครั้ง ก็จะลดลงไม่มากเกินไป” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวและการจัดงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ ยังมีการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ ตามแผนที่วางไว้ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง 2 ด้าน ได้แก่ 1.การจำกัดจำนวนคน และ 2.การเว้นระยะห่างทางสังคม เนื่องจากมีตัวอย่างของการจัดงานขนาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก แต่อาจเป็นเพราะไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทำให้การจัดงานต้องยกเลิกก่อนกำหนด โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ททท.พยายามจัดให้กระจายตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในการท่องเที่ยวของกลุ่มคนจำนวนมาก
“แนวทางการสร้างความเชื่อมั่น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การท่องเที่ยววิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) ไม่สามารถทำแบบเดิมได้ โดยต้องท่องคาถาที่ททท.เคยให้ไว้ตลอด ได้แก่ ใส่หน้ากาก การ์ดไม่ตก พกเจลล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม หากมี 4 ข้อนี้ จะเดินทางท่องเที่ยวที่ใดก็เชื่อมั่นได้ และมีความปลอดภัย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดงาน แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนของแต่ละบุคคลมากกว่า ว่าจะสามารถทำตามมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้นได้หรือไม่ ซึ่งมองว่าหากมีการจัดกิจกรรม และมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งได้ จะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจว่า จะไม่เกิดการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19 ได้ เพราะหากการจัดงานแล้วเกิดต้องยกเลิกไป ก็สร้างความเสียหายในทุกส่วน ทั้งตัวนักท่องเที่ยวเองที่ต้องกลับก่อน ทั้งที่อาจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวไว้แล้ว” นายยุทธศักดิ์ กล่าว