กทพ. เตรียมเสนอทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ-ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เข้าบอร์ดกลางปี64
นางสาวกชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองแผน และวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็น หลังจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ โดยระหว่างนี้ กทพ.หารือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในเรื่องของรูปแบบการลงทุน ขณะเดียวกัน เตรียมส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมพิจารณา โดยระหว่างนี้กทพ. จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ภายในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี
นางสาวกชพรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางที่ปรึกษาโครงการฯ จะนำข้อมูลเสนอทั้งหมดที่ได้มีการจัดประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปสรุป เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ในช่วงกลางปี 2564 หลังจากนั้น จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปลายปี 2564 หลังจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของการท่าเรือฯ ที่จะต้องดำเนินการเรื่องเวนคืนพื้นที่ของการท่าเรือฯ พร้อมเจรจาเรื่องค่าเสียหายให้กับผู้ที่ต้องย้ายออกจากบริเวณดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการ 2 ปี หรือระหว่างปี 2564-2565
ส่วนแผนการดำเนินโครงการคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2568 สำหรับค่าก่อสร้าง ใช้งบประมาณ 2.4 พันล้านบาท คาควบคุมงานก่อสร้างประมาณ 80 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 2.48 พันล้านบาท สำหรับ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและอัตราค่าผ่านทางจะใช้อัตราเดียวกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร คือ รถ 4 ล้อ จ่ายในอัตรา 50 บาทต่อคัน รถ 6-10 ล้อ จ่ายในอัตรา 75 บาทต่อคัน และรถมากกว่า 10 ล้อ จ่ายในอัตรา 110 บาทต่อคัน ซึ่งในปีเปิดโครงการ ปี 2568 จะมีปริมาณจราจรประมาณ 1.44 หมื่นคันต่อวัน โดยในจำนวนนี้จะเป็นรถใหม่ที่ไม่เคยใช้ระบบทางด่วนนี้ จำนวน 6 พันคัน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ จะช่วยลดปัญหารถติดในพื้นที่ดังกล่าว และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกว่า 22%
สำหรับ แนวสายโครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณ เทอร์มินอล 3 ของการท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งการออกแบบให้เชื่อมต่อกับประตูทางเข้า-ออก เทอร์มินอล 3 ในแนวทิศเหนือ-ใต้ จากนั้นแนวสายทางจะเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร โดยก่อสร้างเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จรูปตัวไอ ไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนง และถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อมเข้ากับการทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษบูรพาวิถีและทิศทาง-ไปทางพิเศษฉลองรัช มีระยะทางรวมประมาณ 2.25 กิโลเมตร