กรมรางผนึกสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ปั้นอุตสาหกรรมระบบราง หนุนผลิตใช้ในประเทศ

วันที่ 25 ธ.ค.63 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษานโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมราง และการประชุมเชิงปฏิบัติการสนับสนุน local content ระบบราง ในงาน ขร. ได้รับเกียรติจากนายประทวน สุทธิอำนวยเดช ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งทางราง มาเป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบราง หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว

ตามที่รัฐบาลได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมของไทย ระยะ 20 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟทางคู่และเส้นทางสายใหม่ และการพัฒนาการขนส่งในภูมิภาค ระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 กิโลเมตร รวมถึงแผนการจัดหาล้อเลื่อนของการรถไฟแห่งประเทศไทยระยะเร่งด่วน จำนวน 5 โครงการ

และระยะที่ 2 อีก 11 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดความต้องการตู้รถไฟและรถไฟฟ้ากว่า 11,000 ตู้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีความพร้อมในด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่จะต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมด้านระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างมหาศาล อาทิเช่น เกิดการลงทุนกว่า 1.5 ล้านบาท สามารถจัดซื้อรถไฟในราคาลดลงกว่า 2,700 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้ระดับสูง รวมทั้งค่าจ้างแรงงานกว่า 6,000 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางในตลาดโลก

คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ร่วมกับ ขร. และ วว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนระบบราง โดยการใช้วัสดุภายในประเทศ (local content) อย่างน้อย 40% ภายในปี 2565 ตามนโยบาย “Thai First” ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับนโยบายสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือจะสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนรถไฟภายในประเทศได้

Advertisement

สำหรับการจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษานโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรางและการประชุมเชิงปฏิบัติการสนับสนุน local content ระบบราง ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบรางทราบถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการผลิต local content ระบบราง โดยแบ่งเป็นกลุ่ม 5 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 งานโยธาและงานทาง กลุ่มที่ 2 งานล้อเลื่อน กลุ่มที่ 3 งานไฟฟ้า อาณัติสัญญาณและสื่อสาร กลุ่มที่ 4 ผู้ให้บริการเดินรถ และกลุ่มที่ 5 งานสนับสนุนการเดินรถและอื่น ๆ (ระบบขายบัตรโดยสาร หน่วยงานทดสอบ ฯลฯ) รวมถึงให้ทราบแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งทางราง ตลอดจนการรับทราบสภาพปัญหา อุปสรรค ความต้องการ และข้อเสนอแนะจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงได้อย่างเกิดประสิทธิผลและนำข้อมูลจากการศึกษามาเสนอรูปแบบการบริหารทุนวิจัยให้ตรงเป้าหมายและสอดคล้องกับศักยภาพของสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ตลอดจนผลักดันให้เกิดงานสนับสนุนที่จำเป็นต่อการผลิตชิ้นส่วนรถไฟภายในประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image