บทความพิเศษ : กลลวงประมูลคลื่น 4G โดย รุจิระ บุนนาค

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีว่าใช้ในกิจการโทรศัพท์มือถือ 4G ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงด้วยเม็ดเงินประมูลสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 151,952 ล้านบาท ที่มีผู้ชนะการประมูล 2 ราย และได้ใบอนุญาตรายละ 1 ใบ คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือรู้จักกันดีในนาม TrueMove H (บริษัทในเครือทรู) และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือรู้จักกันในนาม JAS

คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เหมาะสำหรับใช้ในกิจการโทรศัพท์มือถือ 4G เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติในการทะลุทะลวงสูง สามารถส่งสัญญาณคลื่นได้ไกล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการตั้งเสาส่งสัญญาณได้มาก จึงทำให้เป็นที่สนใจสูงสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือทั้งหลาย ซึ่งก่อนที่จะประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ได้มีผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ถือครองคลื่นความถี่นี้และกำลังให้บริการอยู่นั่นคือ AIS

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แบ่งใบอนุญาตสำหรับคลื่นชุดที่ 1 ผู้ประมูลได้คือ JAS ซึ่งเป็นหน้าใหม่ในวงการ จนมีฉายาว่า JAS ผู้ฆ่ายักษ์ ประมูลได้เป็นเงิน 75,654 ล้านบาท ใบอนุญาตสำหรับคลื่นชุดที่ 2 ผู้ที่ประมูลได้คือ TrueMove H ประมูลได้เป็นเงิน 76,298 ล้านบาท ทุกอย่างดูเหมือนว่ากำลังไปได้สวยและราบรื่นดี หากผู้ที่ประมูลได้สามารถจ่ายค่าประมูล พร้อมหนังสือค้ำประกันธนาคารได้ตามกำหนด รัฐบาลก็จะได้เงินเข้ากระทรวงการคลังและสามารถนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ยากจนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่กลับมีข่าวคราวออกมาอย่างหนาหูในช่วงนี้ รวมถึงในวงการธุรกิจและวงการธนาคารที่เป็นห่วงและรู้สึกกังวลว่า อาจมีผู้ที่ชนะการประมูลรายหนึ่งไม่สามารถจ่ายเงินประมูลงวดแรกและไม่สามารถหาหนังสือค้ำประกันธนาคารได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง

Advertisement

หากเป็นเช่นนั้นจริง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรตามหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราลองมาเดาใจ กสทช. และช่วยกันวิเคราะห์ว่าเป็นธรรม สมเหตุสมผล หรือทำให้ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์หรือไม่

เป็นที่แน่นอนว่าแนวทางที่ กสทช.ต้องทำ คือ การนำชุดคลื่นความถี่และใบอนุญาตที่ไม่สามารถจ่ายเงินประมูลออกมาประมูลใหม่ เมื่อมองผิวเผินดูเป็นแนวทางปกติ แต่ถ้าวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และกฎหมายแล้วจะเห็นชัดว่าไม่มีรายอื่นที่เหลือจะมาเข้าประมูลแล้ว เหลือการแข่งขันเพียงไม่กี่รายที่แพ้การประมูลคราวที่แล้ว และเป็นที่แน่นอนว่าผู้ที่ชนะการประมูลรายใหม่จะประมูลไปด้วยราคาที่ต่ำกว่าครั้งแรก รวมถึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ราคาจะต่ำกว่าครึ่งอีกด้วย ซึ่งอาจมองว่า กสทช.ไม่ใช่ผู้เสียประโยชน์ เพราะสามารถไปเรียกค่าส่วนต่างที่ขาดจากผู้ชนะการประมูลคราวที่แล้วที่ไม่จ่ายเงินประมูลตามกำหนด ซึ่งต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนต่าง และเสียค่าปรับจากเงินหลักประกันการประมูล 600 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีคำถามว่าหากผู้ที่ชนะการประมูลนั้นไม่สามารถจ่ายเงินตามกำหนดเวลา จะสามารถหาเงินมาจ่ายค่าส่วนต่างเป็นเงินถึง 40,000 ล้านบาท และค่าปรับอีก 600 ล้านบาทได้อย่างไร จึงเป็นไปได้ว่ารัฐบาลมีโอกาสจะสูญเสียเงินจำนวนนี้สูงมาก

อีกทั้งมีผลร้ายแรงตกสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทันที ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น ทำให้ผู้ประกอบการอีกรายที่ชนะการประมูลตั้งแต่ต้น และได้จ่ายเงินค่าประมูลตามกำหนดเวลากลับกลายเป็นผู้เสียเปรียบ มีต้นทุนที่สูงมหาศาลสูงกว่ารายใหม่ที่เข้าประมูลรอบสองอย่างไม่มีความเป็นธรรม ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เช่น ผู้ประมูลครั้งแรกชนะประมูลไปด้วยราคา 75,000 ล้านบาท และได้จ่ายเงินค่าประมูลเรียบร้อย ในขณะที่อีกรายหนึ่งไม่สามารถจ่ายเงินประมูลได้ กสทช.จึงต้องจัดประมูลใหม่ ด้วยราคาขั้นต่ำในการประมูลเท่ากับครั้งแรกที่ 12,864,000,000 บาท หากผู้ชนะการประมูลครั้งใหม่ประมูลไปได้ในราคา 35,000 บาท เท่ากับรายหลังมีต้นทุนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่รายแรกต้องจ่ายเงินประมูลแพงกว่าลิบลิ่ว เรื่องนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีช่องว่างมาตั้งแต่ต้นหรือไม่

Advertisement

ผลร้ายอีกอย่างที่สามารถคาดเดาได้คือ การเปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการที่ยังใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อย่างเดิมได้เปรียบ สามารถใช้คลื่นความถี่นี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ในระหว่างที่รอประมูลใหม่ และการประมูลใหม่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากแบบที่เกือบไม่ต้องคาดเดาเลยว่ารายดังกล่าวจะเป็นผู้ชนะประมูลในราคาที่ต่ำกว่าครึ่งได้ ใบอนุญาตไปแบบฉลุยเหนือเมฆอย่างง่ายดาย ซึ่งจากการวิเคราะห์และพิจารณาข้อกฎหมายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลทั้งหมดแล้วจะเห็นชัดว่า มีช่องว่างของหลักเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดมหากาพย์ 4G แบบไม่เป็นธรรม

กสทช.คงต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ มิฉะนั้น กสทช.อาจตกเป็นผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือประพฤติมิชอบ และกระทำผิดกฎหมายเสียเอง รวมถึงการประมูล 4G ไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม การแข่งขัน และการให้บริการสาธารณะที่ประชาชนจะต้องช่วยกันติดตาม เป็นหูเป็นตา ร่วมด้วยช่วยกันให้เกิดความเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image