รวมข่าวเศรษฐกิจ2563 ที่สุด‘ปัง พัง ดัง ดับ’

รวมข่าวเศรษฐกิจ2563 ที่สุด‘ปัง พัง ดัง ดับ’ ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ

รวมข่าวเศรษฐกิจ2563 ที่สุด‘ปัง พัง ดัง ดับ’

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจตลอดปี 2563 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลและก่อเกิดหลากหลายเหตุการณ์ ล้วนมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

⦁‘คนละครึ่ง’นโยบายปังแห่งปี
เมื่อรัฐบาลต้องการจะกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ลดภาระประชาชน เนื่องจากยังเปิดประเทศไม่ได้ รัฐบาลจึงออกโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ปัจจุบันกระแสตอบรับดี มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ทุกโพลยกนิ้วให้เป็นนโยบายดีสุดของรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย จนเร่งเปิดให้ลงทะเบียนคนละครึ่งระยะ 2 (เฟส 2) ในวันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งใจจะให้โครงการคนละครึ่ง เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นไปตามคาด ประชาชนแห่ลงทะเบียนขอรับสิทธิเต็ม 5 ล้านสิทธิตามเป้าหมายรัฐ ภายใน 2 ชั่วโมง
โครงการคนละครึ่ง คือ โครงการที่รัฐบาลจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยในระยะที่ 1 (เฟส1) ให้สิทธิ 10 ล้านคน พร้อมวงเงิน 3,000 บาท เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา และได้ขยายต่อเป็นระยะที่ 2 (เฟส 2) เพิ่มสิทธิอีก 5 ล้านคน และขยายวงเงินเพิ่มเป็น 3,500 ซึ่งคนเดิมในเฟส 1 ได้รับสิทธิเพิ่มอีก500 บาท ซึ่งเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2564

Advertisement

การใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งนั้นช่วงแรกค่อนข้างเงียบเหงา ทั้งจำนวนผู้ลงทะเบียนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ แต่พอมีการประชาสัมพันธ์และบอกต่อกันปากต่อปากในกลุ่มประชาชน ทำให้มีคนสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และร้านค้าก็สนใจลงทะเบียนอย่างล้นหลาม ถึงวันนี้ทะลุเป้าหมายล้านร้านค้าตามที่รัฐบาลหวังไว้

ความนิยมของโครงการคนละครึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เมื่อระบบการส่งรหัสข้อความยืนยันครั้งเดียว (OTP) มีความขัดข้อง โดยเฉพาะกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายหนึ่ง ที่ปรับปรุงระบบไม่ทัน จนทำให้การส่งข้อความ OTP ล่าช้า จนมีคนจำนวนมากพลาดสิทธิการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ไป ประเมินว่าพลาดสิทธิกว่า 5 แสนราย ผู้ให้บริการค่ายนั้นออกมารับผิดชอบด้วยการชดเชยค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต วงเงินไม่เกิน 3,500 บาท พร้อมลุ้นว่ากระทรวงการคลังจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งก็มีกระแสให้สิทธิลงทะเบียนก่อนในเฟส 3 ที่จะมีจำนวนผิดเงื่อนไขโครงการเฟสแรกกว่า 5 แสนรายซึ่งกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 3 ต้นปี 2564

รัฐบาลยังคงตั้งความหวังไว้ว่าจะใช้โครงการคนละครึ่ง ปัจจัยหลักกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ 2 เฟสแรกจะเห็นผลไตรมาส 1/2564 ที่ยังต้องพึ่งพาการบริโภคของประชาชนในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และชดเชยผลจากสัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ไม่แค่ในพื้นที่สมุทรสาครเท่านั้น กำลังขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ จนกังวลว่าถึงขั้นล็อกดาวน์อีกครั้ง พอๆ กับที่ประชาชนลุ้นคนละครึ่งจะมีต่อทุก 3 เดือน

Advertisement

⦁ศึกชิงเก้าอี้ขุนคลัง นั่งแค่27วัน
อีกเหตุการณ์สำคัญปี 2563 ในวันที่ 16 กรกฎาคม เมื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออก พร้อมทีมแก๊ง 4 กุมาร ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ประกาศลาออกจากทั้งตำแหน่งรัฐมนตรี และออกจากพรรคพลังประชารัฐ

ทั้ง 5 คนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นทีมสำคัญที่บริหารเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลภายใต้การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายสมคิด ยกสาเหตุลาออกว่า เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ส่วนลูกทีม ประกาศลาออก เพราะถูกปรับออกจากรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และปัญหาภายในพรรค

การทีมเศรษฐกิจลาออกพร้อมกัน 5 คน กลายเป็นงานใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบเร่งหาทีมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ ในภาวะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และส่งผลหนักเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ที่ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 2/2563 ทำสถิติต่ำสุดและผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ติดลบถึง 12.2% อีกทั้งเป็นแรงกดดันให้หลายคนที่ถูกทาบทาม เพื่อเข้ามารับตำแหน่งต่างปฎิเสธ

แต่ที่สุดทีมเศรษฐกิจก็ตั้งขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นประชาชน ภาคเอกชน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยได้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ได้ ปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 53 แต่ต้องช็อก เมื่ออยู่ๆ ปรีดี ประกาศลาออก อ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ หลังจากทำงานได้เพียง 27 วันเท่านั้น ถือเป็นรัฐมนตรีอีกคนของกระทรวงการคลังที่นั่งทำงานสั้นสุด
ด้วยเป็นกระทรวงหลักในการฟื้นเศรษฐกิจและคุมการเงินประเทศ จะปล่อยเว้นว่างนานก็ไม่ควร แต่ก็ไม่ง่ายที่จะหาคนเข้ามาบริหาร ดังนั้น ช่วง 1 เดือนที่ตำแหน่งว่างลง ก็มีกระแสข่าวคนสำคัญ ถูกทาบทามมารับตำแหน่งนี้มากมาย อาทิ ประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รวมถึง สันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่เข้าวิน คือ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ตามมาด้วยเสียงเชียร์ ทั้งความพร้อมเหมาะสม และเชี่ยวชาญงานด้านต่างๆ อย่าง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ที่สำคัญตรงตามคุณสมบัติที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องการ

⦁พิษแบน3สารเคมีลุกลาม
หนึ่งประเด็นฮอตในปี 2563 ที่ถือว่าเป็นมหากาพย์ นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 ยาวมาถึงปี 2563 เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่อนุญาตให้ใช้ (แบน) สารเคมีอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง ขณะที่กำหนดการใช้ ไกลโฟเซต เข้าตำรา “สางวันนั้น กระทบวันนี้”

จุดเริ่มต้นการแบน 2 สารเคมี และควบคุมการใช้ 1 สารเคมี เกิดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันการกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงเริ่มออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ต่อมาความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เมื่อกรมวิชาการเกษตรต่อทะเบียนพาราควอตให้กับ 3 บริษัท ไปอีก 6 ปี โดยระบุว่า หากล่าช้าจะทำให้ภาคเอกชนเสียหายและภาครัฐอาจถูกฟ้องได้ จนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือเรื่องพาราควอตและผลกระทบจากการใช้ และที่ประชุมยึดตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือนธันวาคม 2562 อีกทั้ง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกร่างแผนการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงมติด้วยเสียง 399 ต่อ 0 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตร โดย ส.ส. จากทุกพรรคล้วนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกันถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง หลังจากนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายอ้างคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายหน้าที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือ 4 กลุ่ม รวมถึงผู้นำเข้า เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมี

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายเผยมติมีความเห็นให้แบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนแบน 2 สารเคมี คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ขณะที่ไกลโฟเซตใช้วิธีจำกัดการใช้ ในตอนนั้นหลายฝ่าย โดยมีเอกชนในและต่างประเทศ ออกโรง โต้แย้งและชี้ถึงผลเสียหายต่อการนำเข้าและผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมาพิจารณาและลงมติให้ยึดมติเดิม

แม้มติจะออกมาอย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว น่าจะเป็นทางทฤษฎี ทางปฏิบัติถึงวันนี้ ก็ยังเป็นการกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ก็เพราะกรมวิชาการเกษตรยังหาสารทดแทนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดไม่ได้ ขณะที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันห้ามนำสารเคมีทั้ง 2 ชนิดกลับมาใช้ในการเกษตร และเชื่อว่ายังมีสารเคมีที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรหันใช้วิธีธรรมชาติมากขึ้น

⦁ยุคอลหม่าน‘หน้ากากอนามัย’
จากไม่เคยเป็นประเด็น กลายเป็นเรื่องดังและร้อนสุดของปี เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกในไทย เกิดขึ้นเร็ว พร้อมกับสร้างความตื่นตระหนก ทุกคนต่างซื้อหา หน้ากากอนามัย (Surgical Mask) เพื่อป้องกันตัวจากการแพร่ระบาด จากสินค้าที่ล้นตลาด ราคาต่ำไม่ใช่สินค้าที่แพร่หลาย ประกอบกับถูกสินค้านำเข้าจากจีน ครองตลาดมานาน จนโรงงานผลิตในประเทศต้องทยอยปิดตัว จนเหลือแค่ 3-4 รายขณะที่จีนต้นทางผลิต Surgical Mask ประสบโควิด-19 ระบาดหนักจนต้องล็อกดาวน์ประเทศในเวลาต่อมา สินค้าจากจีนเข้ามาไม่ได้ สินค้าผลิตในไทยก็ไม่ได้มาก จนเกิดการกว้านซื้อทั้งจากต้องการใช้ป้องกันไวรัส วงการแพทย์และองค์กรต่างๆ ต้องใช้เพื่อการดูแลคนป่วย อีกทั้ง พ่อค้ากว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร ความต้องการจึงพุ่งหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ดูแลเรื่องราคาสินค้า ต้องออกแรงสกัดปัญหาที่กำลังลุกลาม ใช้ยาแรง ทั้งขอให้โรงงานในประเทศเพิ่มกำลังการผลิตและห้ามส่งออก โรงงานใดผลิตป้อนส่งอออย่างเดียวให้ผลิตส่งเข้าส่วนกลางที่รัฐต้องคณะกรรมการกลางเพื่อจัดสรรโควต้ากระจาย Surgical Mask จากสินค้าผลิตออกสู่ตลาดไม่ถึง 1 ล้านชิ้นต่อวัน เพิ่มเป็น 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน และจบที่ 2.2 ล้านชิ้นต่อวัน พร้อมกับกำหนดราคาขายปลีก Surgical Mask เป็นสินค้าควบคุมราคาไม่เกิน 2.50 บาท เพื่อแก้ปัญหาโกงราคาสูงกว่าปกติ 3-5 เท่าตัว

แต่มาตรการไม่ได้ช่วยบรรเทา!! มีการร้องเรียนถึงการขาดแคลนและราคาสูงลิ่วต่อเนื่อง รวมถึงมีการปูดถึงขบวนทุจริตกักตุนหน้ากาก หนึ่งในข้อกล่าวหาร้ายแรงคือข้าราชการมีส่วนร่วมในการจัดสรรปันส่วนหน้ากากอนามัยให้กับนักการเมือง ซึ่งกระแสข่าวปรากฏชื่อทีมที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กลายเป็นกระแสสังคม กระทบความเชื่อมั่นศรัทธาของรัฐบาล ที่เกิดปัญหาการกักตุนและการจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา โดยเฉพาะช่วงพีกของการแพร่ระบาด ร้อนถึงรัฐบาลและมีคำสั่ง 80/2563 วันที่ 15 มีนาคม 2563 เด้งฟ้าผ่า ย้าย วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าตัวออกมาเปรย “100 วิชัยก็แก้ไม่ได้” และกระแสยื่นลาออกทั้งที่เหลือเวลา 6 เดือนจะเกษียณราชการ แต่หลังจากเพียง 2 เดือนเศษ ก็มีคำสั่งคืนให้นายวิชัยกลับมาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายในอีกครั้ง

ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ก็เกิดปมเปิดโปงสัญญา อคส. ซื้อถุงมือยางมูลค่ากว่า 1 แสนกว่าล้าน ไม่รู้ผลเป็นอย่างไร แต่แน่ๆ การหาซื้อ Surgical Mask ที่สูงกว่าปกติได้กลับมาอีกครั้ง

⦁‘หุ้น-ทอง’ควงฝ่าวิกฤตโควิด
การระบาดโควิด-19 ไม่แค่ส่งผลกระทบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นต่อภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนด้วย โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น เจอวิกฤตเช่นกัน แรงสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ทุบสถิติดัชนีหุ้นตกลงมากที่สุดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ไม่พอลดลงต่ออีกในวันที่ 13 มีนาคม 2563 โดยดัชนีลงลึกถึงระดับ 10% ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) งัดไม้ตาย ประกาศใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) ถึง 2 รอบภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกของตลาดหุ้นไทย ที่ดัชนีปรับลดลงถึงเกณฑ์เซอร์กิต เบรกเกอร์ทันทีที่เปิดทำการ และเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์หยุดการซื้อขายชั่วคราวติดต่อกัน 2 วันทำการ

และอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,037.05 จุด ลดลง 90.19 จุด หรือลดลง 8% ทำให้ต้องใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์อีกครั้ง ถือเป็นการใช้มาตรการหยุดพักซื้อขายชั่วคราว 3 ครั้งในเดือนเดียว จนเมื่อมีข่าวการค้นพบวัคซีนต้านไวรัส ประกอบกับโจ ไบเดน พรรคเดโมแครต ผู้ชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ แทน โดนัลด์ ทรัมป์ ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับข่าวดี อานิสงส์ถึงตลาดหุ้นไทยด้วย พลิกปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 1,300 จุดจากนั้นก็ไต่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับ 1,500 จุด แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม

เข้าเดือนธันวาคม ส่งท้ายปี 2563 หุ้นไทยเหมือนจะไปได้สวย ก็ถูกสกัดดาวรุ่ง เพราะเจอเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงในไทยอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีร่วงวันเดียว 80 จุด หรือลงกว่า 5% แม้ภาพการดิ่งของดัชนีไม่ถึงวันละ 100 จุดเหมือนโควิดระบาดรอบแรก แต่ความเสี่ยงยังมีอยู่มาก เพราะทุกฝ่ายมองเป็นภาพเดียวกันว่าโควิด-19 จะยังอยู่กับเราอีกนาน อย่างน้อยก็ครึ่งแรกของปี 2564 และภาวะหุ้นผันผวนเกิดได้ตลอด

ทองสินทรัพย์ปลอดภัย ถูกเป็นทางเลือกของกลุ่มลดความเสี่ยงถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทองคำถือเป็นเซฟ เฮฟเว่น (Safe Haven) ดังนั้น ขณะที่ทั่วโลกเผชิญกับความเสี่ยงสูง ตลาดกังวลสูงมาก (Panic) ต่อพิษโควิด-19 จะกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก จึงเป็นอีกปีที่ราคาทองคำขึ้นแบบร้อนแรง อย่างวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ราคาพุ่งทำสถิติสูงสุด 30,400 บาทต่อบาททองคำ ราคาทองรูปพรรณขึ้นถึง 30,900 บาทต่อบาททองคำ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้ในเวลาต่อมา จะมีการทยอยขายเพื่อสลีบลงในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเก็งกำไร และทำเงินเมื่อมีข่าวดีเรื่องความคืบหน้าการพัฒนาค้นคิดวัคซีนต้านไวรัสโควิด ถึงตอนนี้ก็ยังอ้างประสิทธิภาพกว่า 90% แล้ว กดดันต่อทองคำลดลงอย่างหนัก เพียง 2 วัน ของวันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน หดหายไปกว่า 2,000 บาทต่อบาท

ถึงวันนี้ราคาทองคำยังยืนทรงตัว 26,000-27,000 บาท อิงราคาทองโลก 1,900 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งปี 2564 ก็ยังเป็นความหวังใหม่

⦁จีเอสพี-อาร์เซ็ป กระเทือนส่งออก
การค้าระหว่างประเทศ ปี 2563 ก็ร้อนแรงไม่น้อยหน้า เมื่ออยู่ๆ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ลงนามสั่งระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าไทยภายใต้โครงการ Generalized System of Preferences (GSP) มูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.53 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าที่สหรัฐของผลักผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเข้าไทย และเริ่มมีผลทันที่ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2563 ร้อนไปทั้งรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้ไทยก็ถูกสหรัฐตัดจีเอสพีมาแล้วและมีผลต้นปี 2563 ผลกระทบต่อส่งออกลดลงไม่ทันจาง ก็มาเจอตัดสิทธิ GSP สินค้าอีก 231 รายการ ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ไทยก็มีความหวัง เมื่อ 15 ชาติ ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หลังจากเจรจายืดเยื้อกว่า 8 ปี ถือเป็นชัยชนะและข่าวดีต่อการค้าระหว่างประเทศที่จะเริ่มต้นปี 2564 และเป็นความหวังต่อภาคส่งออกไทยอีกครั้ง

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image