‘แบงก์ชาติ’ ชี้เศรษฐกิจเดือน พ.ย. 63 ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า

‘แบงก์ชาติ’ ชี้เศรษฐกิจเดือน พ.ย. 63 ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง เทียบกับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากในหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปี 2562 โดยธปท.ยังต้องติดตามสัญญาณการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ 2.การใช้มาตรการปิดเมืองของต่างประเทศ และ 3.ความต่อเนื่องการฟื้นตัวตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ เครื่องชี้วัดอุปสงค์ ในเรื่องการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้า ทยอยปรับดีขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยว แม้จะมีการเข้ามาเพิ่มขึ้นของจำนวนท่องเที่ยว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกดดันต่อดัชนีภาคบริการที่อยู่ในระดับต่ำไม่แพ้กัน ในด้านเครื่องชี้วัดอุปทาน หลายตัวปรับขึ้นมาได้ดี เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งปรับตัวขึ้นไปได้สูงในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เริ่มเห็นการหดตัวลงต่อเนื่องแล้ว 2 เดือน ทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงบ้าง แต่หากเทียบกับปี 2562 พบว่าเติบโตได้ดี จากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงรายได้นอกภาคเกษตรที่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ครอบคลุมแรงงานที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ในอาชีพอิสระที่มีข้อมูลตัวเลขประมาณ 8 ล้านคน ยังไม่นับรวม ทำให้ยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

“อุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันอยู่ในส่วนของหมวดเครื่องดื่ม ที่กิจกรรมสังสรรค์ลดลงในช่วงเดือนท้ายๆ เพราะมีการระบาดโควิด-19 ใหม่ในประเทศ รวมถึงเครื่องดื่มมีการเร่งผลิตไปแล้วในช่วงเดือนก่อนหน้า ทำให้เดือนพฤศจิกายน การผลิตปรับลดลง” นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลตามการเกินดุลการค้า ที่ลดลงจากการนำเข้าทองคำที่สูงขึ้น และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่มากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงิบบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงมีพัฒนาการด้านการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนสูง ทำให้ความเชื่อมั่นมีมากขึ้น เม็ดเงินลงทุนจึงไหลเข้าตลาดทุนไทยมากขึ้น  และทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจจึงลดการลงทุนในดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

Advertisement

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตาม เป็นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ว่าจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องติดตามการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ และมาตรการควบคุม เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรับลดลง แต่ยังไม่ลึกเท่าช่วงก่อนหน้า ธปท.จึงอยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ในต่างประเทศ หากรุนแรงมากขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ส่งผลต่อเนื่องกับภาคการส่งออกของไทยที่กำลังขยายตัวได้ดีขึ้น และการฟื้นตัวตลาดแรงงาน ที่แม้จะมีสัญญาณปรับดีขึ้น แต่ยังมีบางจุดที่มีความเปราะบางบางจุด และมีความไม่ทั่วถึง โดยตัวเลขอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 7.8 แสนคน ลดลดจากเดือนตุลาคมอยู่ที่ 8.1 แสนคน และหากดูตัวเลขสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานอยู่ที่ 4.7 แสนคน จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 4.9 แสนคน ซึ่งเป็นผลจากในช่วงที่ผ่านมา มีแรงงานนอกระบบเข้ามาหางานทำ และสามารถหางานทำได้บางส่วน และหากดูตัวเลขผู้เสมือนการว่างงานที่ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จะพบว่าปรับลดลงมาที่ 2.2 ล้านคน ในเดือนพฤศจิกายน จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 2.5 ล้านคน

“ความทนทานของเศรษฐกิจต่อโควิด-19 รอบใหม่ หากให้ประเมินในขณะนี้ ถือว่ามีความททานระดับหนึ่ง เพราะเดิมเศรษฐกิจอยู่กับภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 11% ของจีดีพี และนักท่องเที่ยวหายไปค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจคาดการณ์ติดลบอยู่เพียง 6.6% จึงมองว่ายังมีความทนทานระดับหนึ่ง ส่วนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนหรือไม่นั้น อาจต้องรอรายงานนโยบายการเงิน เนื่องจากในไตรมาสที่ 4/2563 ยังไม่เห็นอะไรมากนัก เพราะถือว่าทำได้ค่อนข้างดี” นางสาวชญาวดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image