คมนาคมเผยประชาชนเดินทางรถสาธารณะ ช่วงปีใหม่สะสม 2 วัน ต่ำกว่าคาด 35.47%
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับการรายงานผลการอำนวยความสะดวก ปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2563 ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่า มีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะกว่า 3 ล้านคน ต่ำกว่าประมาณการ 35.47% ปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ กว่า 4 ล้านคัน สูงกว่าประมาณการ 4.05% เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม 475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 77 ราย ได้รับบาดเจ็บ 477 ราย สาเหตุหลักของอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 อย่างมีความสุข สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย คมนาคมใส่ใจกำลังสาม เดินทางอุ่นใจตลอดปีใหม่ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจร วางแผนการเดินทางล่วงหน้า รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
สำหรับ ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2563 ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 สรุปได้ดังนี้ 1.ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3,478,597 คน-เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 35.47% โดยมีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ 4,517,800 คัน ต่ำกว่าประมาณการ 4.05% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 4,253,895 คัน คิดเป็น 94.16% ของปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ ทั้งหมด 2.การตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจความพร้อม 206 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มตรวจฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 จำนวน 15,565 คัน และข้อบกพร่องและสั่งให้เปลี่ยนรถ จำนวน 1 คัน ส่วนท่าเรือ/แพ จำนวน 169 แห่ง ไม่พบข้อบกพร่อง และได้พ่นห้ามใช้เรือ จำนวน 1 ลำ ด้านการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่รถไฟ รถไฟฟ้า และผู้ประจำเรือ ไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด และ 3.เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม 475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 477 ราย บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง คิดเป็น 76.42% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็น 61.68% รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 31.89% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 54 ครั้ง
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดทั้งการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้โดยสารไม่ให้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควบคุมการสวมหน้ากากอนามัย ให้ผู้ใช้บริการสแกนแอพพลิเคชั่น ไทยชนะ และจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ให้บริการ