เข้มปิดผับ-บาร์ ช่วงปีใหม่ ยอดขายเหล้าสูญ 1,000 ล้าน

เข้มปิดผับ-บาร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคยสะพัด 5 พันล้าน กลับยอดขายหาย 20%

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกประกาศหรือคำสั่งของแต่ละจังหวัด ในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยการใช้มาตรการส่วนใหญ่เพื่อต้องการตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วยการสั่งปิดสถานที่บางแห่งเป็นการชั่วคราว รวมถึงการสั่งปิดสถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการ ตลอดจนมีการห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ภัตตาคาร ในบางจังหวัดอีกด้วย ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ในทางอ้อมก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ ทั้งกับผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งอย่างต่ำในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ แทนที่จะขายได้ แต่โควิดระบาดกระทบยอดขายหายไป 20% ซึ่งปกติช่วงปีใหม่จะมีเงินสะพัดประมาณ 5 พันล้านบาท“

นายธนากรกล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดโควิดในครั้งนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าครั้งแรก เนื่องจากมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผู้คนโดยทั่วไปต่างมีความหวังจะได้ร่วมสังสรรค์รื่นเริงและมีการจับจ่ายใช้สอยดังที่รัฐบาลได้ออกโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และการประกาศวันหยุดเพิ่มเติม เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและคาดหวังทำให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ

นายธนากรกล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดและตัดวงจรการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อันเป็นการแพร่ระบาดที่แตกต่างจากครั้งแรกเป็นอย่างมาก มาตรการที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดให้ได้ผลดีที่สุดในสถานการณ์นี้คือ ต้องร่วมกัน “อย่าเพิ่งออกไปไหน หากไม่จำเป็น” ภายใต้เครื่องมือของการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ในส่วนของภาครัฐก็ควรรณรงค์และสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ เพื่อช่วยทางอ้อมในการลดการสัญจรการเดินทางและเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมไปในขณะเดียวกันอีกด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาครัฐก็ทบทวนมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ประกาศห้ามโดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์โดยห้ามการขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และห้ามขายในวัน เวลา และสถานที่ที่กฎหมายห้ามไว้ด้วย ก็จะสามารถลดปัญหาการออกไปไหนโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย เพราะคนเพียงหนึ่งคนที่มีเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ อาจจะไปแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 อาจจะไปรับเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในครอบครัวหรือชุมชนของตนเองก็ได้เช่นกัน
“โอกาสการห้ามขาย ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้าย ถ้าห้ามขาย ก็จะกลับไปปัญหาเดิมคือแอบขาย แอบผลิตเอง มีของผิดกฎหมายเกิดขึ้นอีก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image