สรท. คาดส่งออกไตรมาสแรกไม่ฟื้น ขีดเส้นรัฐ 2 เดือน ผุดมาตรการรับมือโควิดระลอกใหม่

สรท.คาดส่งออกไตรมาสแรกไม่ฟื้น ขีดเส้นรัฐ 2 เดือน ผุดมาตรการรับมือโควิดระลอกใหม่

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดลบ 6.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 6,575,690 ล้านบาท หรือติดลบ 6.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดลบ 13.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,920,305 ล้านบาท หรือติดลบ 13.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 ไทยเกินดุลการค้า 23,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 655,384 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2563 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว และกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ส่วนสินค้ากลุ่มที่มีความต้องการลดลง อาทิ ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออก 11 เดือน แรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 4% สินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 6.6%

“สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลงระหว่างติดลบ 6-7% และคาดการณ์ ปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% แต่ยังมองว่าภาคการส่งออกในไตรมาสที่ 1/2564 ยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ” นางสาวกัณญภัค กล่าว

ขณะที่ ปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า เวิร์ค ฟอร์ม โฮม ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง ขณะที่ ปัจจัยลบที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 อาทิ การหดตัวลงของกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าทั่วโลก, การผลิตและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจนกว่าจะจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของไทยวัคซีนชุดแรกน่าจะมาถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเร็วกว่านั้นเล็กน้อย, แรงงานต่างด้าวขาดแคลน จากการระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงแปรรูปขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง

Advertisement

ทั้งนี้ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร เนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน กลับไปยังจีน และเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย, ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ

สำหรับ ข้อเสนอแนะของ สรท. ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน ได้แก่ มาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในรอบแรก อาทิ ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท.เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการซอฟต์โลน ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image