ชป.บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งลุ่มเจ้าพระยา ให้มีใช้เพียงพอ พร้อมใช้น้ำอย่างประหยัด

ชป.เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนและเพียงพอ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดตลอดแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุม ประชุมการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2563/64 ผ่านระบบ VDO Conference กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมี นายอุทัย เตียนพลกรัง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64

ในการนี้ กรมชลประทาน ได้รายงานถึงสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 46,738 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,807 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,751 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 5,055 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์และสำรองไว้ช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น ส่วนภาคการเกษตรขอให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 สำหรับพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้อยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันปฏิบัติตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า อาทิ สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การประปาของท้องถิ่น รวมทั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติตามแผนการสูบน้ำที่ได้เสนอต่อกรมชลประทาน ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 63-30 เม.ย. 64 ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่ต้องรับน้ำเข้าระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่ง ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุดตามแผนการรับน้ำที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรไม่ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร(นาปรัง) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองต่างๆ เป็นต้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image