‘เอเซียพลัส’ ชี้โควิดไม่จบ ม.ค จีดีพีปีปีนี้น้อยกว่า 4.1%

บทนำ : ตัวเลข ศก.ดีขึ้น นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการ

‘เอเซียพลัส’ ให้เป้าดัชนี 1,550 จุด ชี้หากคุมโควิดไม่จบใน ม.ค ทำจีดีพีปี 64 โตน้อยกว่า 4.1%

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) จะพลิกกลับมาฟื้นตัว 4.1% เทียบกับปี 2563 จากฐานที่ต่ำและทุกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้ ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 2564 ประเมินไว้ว่าจะทำได้ที่ 7.19 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 65.04 บาทต่อหุ้น มีการเติบโตประมาณ 38.1% โดยประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยมีเป้าหมายแรกที่ระดับ 1,550 จุด ภายใต้การคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไร (พีอี) ที่ 23.8 เท่า และ 25 เท่า เมื่อคูณกับกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) จะอยู่ที่ 65.04 บาทต้อหุ้น และเป้าหมายถัดไปที่ระดับ 1,626 จุด ภายใต้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Market Earning Yield Gap) อยู่ที่ 3.7% ถึง 3.5% บนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%

“นับตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/2563 และต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นไตรมาส 1/2564 สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยในรอบนี้ถือว่ารุนแรงกว่ารอบแรก เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อแพร่กระจายมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการในการควบคุมโรคออกมา ซึ่งต้องติดตามระยะเวลาว่าจะยาวนานเพียงใด และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงมีโอกาสทำให้เกิดการหดตัวของจีดีพีลดลงอีกครั้งในไตรมาส 1 นี้ ซึ่งถือเป็นช่องในการปรับลดลงต่อประมาณการจีดีพี และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ส่วนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เชื่อว่ารัฐบาลยังต้องมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องและต้องเพิ่มน้ำหนัก รวมถึงวงเงินให้สูงขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการก่อ หนี้ซึ่งถูกกำหนดเป็นวินัยการคลังไว้ที่ 60% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าเงินกู้ที่คงเหลือกู้ได้อีกประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท นับจากสิ้นเดือน ตุลาคม 2563” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ทิศทางในระยะกลางถึงยาวของปี 2564 เชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เพราะยังมีแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์ ที่ไหลเข้าไทยหลายช่องทาง ทั้งการลงทุนทางตรง อาทิ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไแ) แรงหนุนจากนโยบายของนาย นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่ผลักดันการขึ้นภาษีนิติบุคคล และค่าจ้างขั้นต่ำในสหรัฐฯ ส่วนการลงทุนทางอ้อม (การลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงิน) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ ช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากพันธบัตรมาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้นในระยะถัดไป รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า หนุนให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพคล่องที่ล้นระบบ และรอจ่อเข้าตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นตัวช่วยเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นอีกแรง

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ด้านกลยุทธ์การลงทุนในช่วงต้นปี 2564 แนะนำหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง และได้แรงหนุนจากฟันด์โหลว์ อาทิ PTT, KBANK, ADVANC, GULF และหุ้นปันผลสูง อาทิ AP, DCC ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ขยับขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าทางพื้นฐาน อาทิ MAJOR, DELTA ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย หรือเก็งกำไร โดยให้น้ำหนักการลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่สหรัญอเมริกาและจีน และให้คงสภาพคล่องในพอร์ตประมาณ 10-20% เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า หลังราคาปรับตัวขึ้นร้อนแรง โดยปีนี้อาจเป็นอีกปีที่ท้าทาย แต่ภายใต้วิกฤตมักสร้างโอกาสลงทุนใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนได้เสมอ

Advertisement

นายภาดร สุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของนักลงทุน ขณะที่ทิศทางการลงทุนในปี 2564 ก็อาจยังดูไม่ชัดเจนนัก แม้จะเปิดปีมาพร้อมกับความหวังเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ที่คืบหน้า แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบสองหรือสามในบางประเทศก็ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องตามไปด้วย โดยหากประเมินจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก เห็นได้ว่าหุ้นต่างประเทศที่ได้อานิสงส์ อย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตดีมาก การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศครึ่งหนึ่ง ยังเป็นการจัดพอร์ตลงทุนที่แนะนำ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ หุ้นกลุ่ม Cloud และ Cybersecurity ที่โตไปตามเทรนด์เวิร์กฟอร์มโฮม รวมถึงเทรนด์ Digitalization เช่น ETF ที่ลงทุนล้อไปกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจ Cloud อย่าง First Trust Cloud Computing ETF ที่สร้างผลตอบแทนได้กว่า 49% ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังแนะนำให้แบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือชิพประมวลผล อย่าง VanEck Vectors Semiconductor ETF รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะได้ประโยชน์เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระแสโควิ-19 ถือว่ามีทั้งข่าวดีและไม่ดีเข้ามาสอดคล้องกัน โดยข่าวดีเป็นเรื่องการมีวัคซีนต้านเข้ามา แต่ประเด็นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีน้ำหนักกดดันตลาดมากกว่า เพราะแม้จะมีวัคซีนเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังติดในเรื่องการกระจายวัคซีนต้านไวรัสอย่างทั่วถึง รวมถึงยังมีแรงกังวลในส่วนของการกลายพันธุ์ของไวรัสด้วย จนเริ่มเห็นการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งในบางประเทศ แม้จะเป็นการล็อกดาวน์แบบไม่เข้มข้นเท่าการระบาดครั้งแรกก็ตาม โดยตลาดให้ความสำคัญไปที่การล็อกดาวน์ ว่าจะใช้เวลานานมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย โดยหากระยะเวลาการล็อกดาวน์ยืดเยื้อเกินเดือนมกราคมนี้ จะเป็นปัจจัยทำให้จีดีพีปรับลดลงมากกว่าที่ประมาณการไว้ได้ เนื่องจากมีการศึกษาว่า หากมีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในระยะทุก 1 เดือน จะส่งผลกระทบให้จีดีพีหายไป 1.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image