“ส.ภัตตาคารไทย” ชี้ธุรกิจจ่อปิดตัวเพิ่ม หากรัฐไม่ช่วยหนุนสภาพคล่อง

“ส.ภัตตาคารไทย” ชี้ธุรกิจจ่อปิดตัวเพิ่ม หากรัฐไม่ช่วยหนุนสภาพคล่อง

10 นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารขณะนี้ ต้องยอมรับว่าถูกกระทบจากการระบาดโควิด-19 สูงมาก หลังจากที่รัฐบาลกำหนดให้ร้านอาหารจะต้องปิดบริการในเวลา 21.00 น. ทำให้รายได้ลดลงแล้วกว่า 50% แล้ว การอนุญาตให้เปิดขายได้ถึงเวลาดังกล่าว ช่วยได้แค่พอมีรายได้เข้ามาจุนเจือมากขึ้นเท่านั้น โดยประเมินว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อและไม่คลายตัวลง ในอีก 1 เดือนต่อจากนี้ หรือในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อาจเห็นธุรกิจร้านอาหารต้องปิดตัวลงอีก จากในรอบแรกที่เกิดการระบาดมีการปิดตัวไปแล้ว 3-4 หมื่นราย

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดในขณะนี้คือ การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพราะรายได้ที่หายไป ทำให้กระแสเงินสดลดลง โดยมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การสมทบเงินประกันสังคมให้แรงงานนั้น ส่วนใหญ่ยังเข้ามาช่วยไม่ถึงร้านอาหาร เพราะติดในเงื่อนไขการจดทะเบียนต่างๆ เพราะแม้จะมีการเสียภาษีตามกฎหมาย แต่การจดทะเบียนไม่ได้มีมากนัก โดยขณะนี้มีร้านอาหารประมาณ 7 แสนรายทั่วประเทศ แต่มีจดทะเบียนไม่ถึง 30% ของจำนวนทั้งหมด ทำให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ มาไม่ถึงร้านอาหารมากเท่ากับการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้

“ร้านอาหารขนาดใหญ่ ทำการลดภาระด้านต้นทุน ผ่านการให้พนักงานสลับกันหยุดงาน ส่วนที่ภาครัฐต้องช่วยคือ การช่วยด้านเงินทุน แต่ไม่ได้อยากให้แจกเงินให้ เพราะจะเป็นภาระเกินไป แต่ต้องการให้ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมากกว่า อาจตั้งวงเงินไว้ 10,000 ล้านบาท แล้วกระจายให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการให้เอกชนด้วยกันช่วยพิจารณาและรับรองให้ เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง หรือหากรัฐบาลจะช่วยด้านการจ่ายสมทบเงินเดือนให้พนักงานคนละ 50% กับผู้ประกอบการ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ดี” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า แม้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ แต่เกณฑ์การอนุมัติให้มีความยาก จึงอยากให้รัฐบาลตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเหลือ เหมือนกองทุนฟื้นฟูและเยียวภาคการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลต้องอนุญาตให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าร่วมกองทุนได้หมด เพื่อให้กระจายการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากประเมินว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทย ภาคอื่นๆ อาทิ เกษตร ส่งออก ยังมีธนาคารหรือกองทุนเข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะได้ แต่ภาคท่องเที่ยวที่มีการสร้างรายได้ในสัดส่วนที่สูงมาก เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เพราะเหตุใดทำไมถึงยังไม่มีการช่วยเหลือในส่วนการจัดตั้งกองทุน หรืออะไรเข้ามาเพิ่มเติม

Advertisement

“ตอนนี้ต้องการความจริงใจจากรัฐบาลว่า จะมีการช่วยเหลืออย่างไรออกมาในช่วงใดบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา หารือกันเรื่องความช่วยเหลือกันค่อนข้างบ่อย แต่การช่วยเหลือกว่าจะออกมาก็กินเวลาหลายเดือน ซึ่งกับผู้ประกอบการบางรายก็ไม่ทันเวลาแล้ว โดยที่ผ่านมาบาดเจ็บกันทุกคน จากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้นาทีนี้รัฐบาลจะต้องให้ความมั่นใจ และมีมาตรการออกมาช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการหายใจได้ก่อน” นางฐนิวรรณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image