สกู๊ปหน้า 1: “สุริยะ”เร่ง6อุตฯ สู้พิษ “โควิด”

สกู๊ปหน้า 1: “สุริยะ”เร่ง6อุตฯ สู้พิษ “โควิด”

ปลายปี 2563 ภาครัฐและเอกชนต่างหมายมั่นว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว จากปัจจัยเครื่องยนต์ที่พอมีอยู่ อาทิ การลงทุนจากภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนในประเทศ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก จะมีก็เพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เนื่องจากได้รับแรงกระแทกจากโควิด-19 หนักหนากว่าภาคส่วนอื่นๆ

แต่พลันที่โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
หันกลับไปดูเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เหลือและพอจะขับเคลื่อนได้ จะมีก็เพียงภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการส่งออก
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ปีนี้จะขยายตัวในระดับ 4-5% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 8% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมในปี 2564จะขยายตัว 4-5% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 7% ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่เน้นสินค้าจำเป็นมากขึ้น คาดว่าอุตสาหกรรมอาหาร เภสัชภัณฑ์ ถุงมือยาง จะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปี 2564 เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะเป็นที่ต้องการเช่นกัน” สุริยะระบุ

สำหรับแผนการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2564 จะเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจในอนาคตของไทย
แผนดำเนินการในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ รวมทั้งกลไกการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ คาดว่าจะมีการประชุมในช่วงต้นปี 2564

Advertisement

2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เบื้องต้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ ปตท. อยู่ระหว่างการพัฒนา ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อบริหารจัดการและเชื่อมโยงซัพพลายเชน ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศอย่างครบวงจร ปรับอีโคซิสเท็มของอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (คอร์), ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

3.อุตสาหกรรมชีวภาพ จะเร่งดำเนินมาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.เร่งผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 2.นำเสนอคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขประเภทหรือชนิดของโรงงานตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) เพื่อพิจารณาเพิ่มบัญชีประเภทอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพรวมทั้งจะมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะติดตามและเร่งรัดโครงการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศให้ดำเนินการตามแผนการที่กำหนดไว้ อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ระยะที่ 1 ได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีมูลค่าลงทุน 7,500 ล้านบาท

“อีกทั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพเพิ่มเติม อาทิ โครงการไบโอฮับเอเชีย และโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทคซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ.ลพบุรี โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานภาครัฐเพื่อยื่นขออนุญาตจัดตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม หากเป็นไปตามแผน จะก่อให้เกิดมูลค่าลงทุนประมาณ 97,000 ล้านบาท” สุริยะระบุ

Advertisement

ส่วนมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ ได้แก่ 1.ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้เป็นวงกว้างถึงมาตรการของภาครัฐในการลดหย่อนภาษีเงินได้ 125% ให้แก่บริษัทผู้ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 2.นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศเพิ่มมากขึ้น และมาตรการสร้างเครือข่าย เซ็นเตอร์ ออฟ ไบโอ เอ็กเซลเลนซ์ จะเร่งยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพและบุคลากรทักษะสูงด้านเทคโนโลยี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบเข้าสู่ตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้โครงการแฟลกชิป
ของ สศอ.

4.อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จะเดินหน้ามาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ทั้งวิสาหกิจชุมชน สตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูปรวมทั้งการพัฒนาด้านนวัตกรรม มาตรฐาน ความปลอดภัย เทคโนโลยี การตลาด และเพิ่มผลิตภาพ และยกระดับองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสร้างผู้ประกอบการใหม่กว่า 1,024 กิจการ และอบรมพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการจำนวนกว่า 2,720 คน

อีกทั้งมีมาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต เร่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตโดยพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างบุคลากรวิจัยที่มีประสบการณ์ทำงานตอบสนองกับโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาอาหารใหม่ กว่า 250 ผลิตภัณฑ์ และมาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ

5.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ เพื่อสร้างซัพพลายเชนที่มีมูลค่าและเทคโนโลยีสูงใหม่ๆ รวมทั้งซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมกลางน้ำจะเน้นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์ เอส-เคิร์ฟ ในอนาคต อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ ไร้คนขับ และอุปกรณ์ไอโอทีต่างๆ รวมทั้งพัฒนาปัจจัยแวดล้อมอีโคซิสเท็ม และอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศรองรับ เตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการทดสอบ เตรียมความพร้อมด้านแรงงาน ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำจะเน้นการสร้างตลาดสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ในประเทศ จะช่วยให้ประเทศไทยรักษาฐานการผลิตที่สำคัญของโลก และพัฒนาสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งได้ปรับตามความเห็นของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

6.อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย จะประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อรวบรวมโครงการ แผนงาน กิจกรรม ที่สอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิบัติการ และบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ

“ทั้งหมดนี้จะนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเริ่มขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการภายในปี 2564” สุริยะสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image