สันติธาร เสถียรไทย เตือนไทยเผชิญ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ชี้เทรนด์ 5D เปลี่ยนโลกถาวร

สันติธาร เสถียรไทย เตือนไทยเผชิญ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ชี้เทรนด์ 5D เปลี่ยนโลกถาวร

เพิ่งเข้าปีใหม่ 2564 ได้เพียงสัปดาห์เดียว เกือบทุกสำนักพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ประสานเสียงปรับลดตัวเลขประมาณการต่างๆ ทั้งตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี จากเดิมทุกค่ายมองไว้ขึ้นปีใหม่ย่อมดีกว่าปีเก่า แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบสองรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงเข้าหลักหลายร้อย และการล็อกดาวน์พื้นที่วงกว้างขึ้น

จากที่เคยมองตัวเลขจีดีพีปีนี้ พลิกจากลบ 6-7% มาเป็นบวก 3-5% จากความหวังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างช้าก็ไตรมาส 2 การส่งออกพลิกบวกได้ 4-5% จากการกลับมาทำกิจกรรมของคนทั่วโลก หลังโควิดแต่ละประเทศเบาบางลง แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่าไทยประสบโควิดรอบใหม่ จีดีพีคาดหวังไว้ ถูกหั่นเหลือ 1.8-2.8% ตามแรงกดดันเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไม่เกิดอีกนาน และส่งออกเจอบาทแข็ง ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ภาคประชาชนเจอภาวะกำลังซื้อฝืดเคืองแม้รัฐออกมาตรการแต่ถูกมองว่าไม่ได้ทั่วถึง จนเห็นการช็อตของการใช้จ่ายแล้ว

สะท้อนจากผลสำรวจต่างๆ อย่างดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI)ของธนาคารกสิกรไทย ลดลงทั้งมุมมองในปัจจุบันและอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า เพราะกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานและรายได้ หลังการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 และที่ยังใช้จ่ายได้เท่าปีก่อนเพราะนำมาจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ช่วยให้ครัวเรือน แต่เพิ่มการวิตกต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว ภาคผลิต ที่จะส่งผลให้ภาวะการครองชีพของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น หรือผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นทุกด้านกลับมาต่ำลงอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับช่วงที่รัฐเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นใช้จ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

และในการสำรวจตรงกับองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ระบุว่าโควิดกระทบแต่ยังพยุงได้หากรอบใหม่จบแล้ว ตรงข้ามกับเอสเอ็มอี รายเล็ก อาชีพอิสระ หรือสตาร์ตอัพเกิดใหม่ ระบุว่าแม้โควิดผ่านไปแล้ว ก็ต้องใช้เวลา 12-24 เดือน กว่าจะฟื้นตัวและพออยู่รอด ซึ่งจะรอดได้นานแค่ไหนอยู่กับมาตรการที่รัฐจะออกมาบรรเทาความเดือดร้อนทั้งของประชาชนและธุรกิจโดยตรง !!

Advertisement

จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น ก็ได้โอกาสได้สัมภาษณ์ สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Sea Group บริษัท แม่การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และแอร์เพย์ (AirPay) ผู้บริหารรุ่นใหม่ ได้ให้ทรรศนะและแง่คิดต่างๆ

⦁มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกและไทย
ขอเริ่มจากมองระยะยาวก่อน โควิด-19 เป็นวิกฤตที่แปลกประหลาดตรงที่มันบังคับให้คนหยุดอยู่กับที่ เดินทางน้อยลง แต่กลับเร่งเมกะเทรนด์แห่งอนาคตหลายอย่าง ให้มาถึงเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนและจะเปลี่ยนโลกอย่างถาวร

โดยสรุปมี 5 เทรนด์สำคัญที่ชื่อล้วนขึ้นต้นด้วยตัว “D” ที่จะมาถึงเร็วขึ้น และจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอย่างมหาศาล

Advertisement

หนึ่ง Debt หรือภาวะหนี้ท่วม โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ที่สูงขึ้นมากจากการที่รัฐบาลต้องคอยเยียวยาผู้ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดสองเตี้ยสองสูง คือ เศรษฐกิจโตได้เตี้ยลง ดอกเบี้ยต่ำยาว พร้อมกับภาระหนี้ที่สูงขึ้นและเงินบาทที่แข็งขึ้นต่อเนื่อง

เหตุผลคือ เมื่อหนี้สูง รัฐบาลเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ต่างก็ต้องกดดอกเบี้ยให้ต่ำยาว ส่งผลให้นักลงทุนต้องวิ่งหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ทำให้เงินไหลเข้า ค่าเงินแข็งทั้งๆ ที่เศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่

สอง Divided หรือความเหลื่อมล้ำ ที่ถูกซ้ำเติมจากไวรัสโควิด เพราะการอยู่บ้านหยุดเชื้อไวรัสนั้น กระทบคนสายป่านสั้นอย่าง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนที่ไม่มีงานประจำและคนทำงานในภาคบริการ (เช่น ค้าขาย มัคคุเทศก์) มากที่สุด ที่สำคัญ คือ คนในกลุ่มเปราะบางนี้จำนวนมากไม่มีตาข่ายรองรับเวลาเขาล้ม เพราะไม่ได้อยู่ในประกันสังคม รัฐไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเช่นเดียวกับที่เราได้เห็นช่วงที่ทำนโยบายเราไม่ทิ้งกัน

สาม Divergence คือการที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกทรุดหนักยาว ส่วนหนึ่งเพราะเอาโควิดไม่อยู่ในขณะที่ในเอเชียเริ่มมีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเช่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ซ้ำเทรนด์เดิมที่แกนเศรษฐกิจโลกเริ่มเอียงมาทางเอเชียมากขึ้น ความสำเร็จของข้อตกลง RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค คือ ความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งอาเซียนมีบทบาทสำคัญ ก็มีส่วนผลักดันระเบียบโลกที่เคยนำโดยตะวันตกเริ่มเปลี่ยนไป

สี่ Digitalisation หรือการเข้าสู่โลกดิจิทัลของทั้งคนและธุรกิจ ที่ถูกเร่งขึ้นหลายเท่าในช่วงโควิด ที่ไม่ใช่เพียงทำให้ธุรกิจดิจิทัลหลายประเภทมาแรงเท่านั้น แต่ยังมีผลเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ วิธีการทำงาน การเรียนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างถาวรแบบไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกทั้งยังเปิดโอกาสในการใช้ดิจิทัล และ data (ข้อมูล) มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ได้

ห้า Degradation หรือความเสื่อมโทรมลงของสิ่งแวดล้อม ไวรัสโควิดนี้อาจไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงแต่มันทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เช่น Blackrock (หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำในโลก ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 7.81 ล้านล้านดอลลาร์ ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2563) ที่อาจเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก จุดประกายให้ประเทศต่างๆ ต้องเอาใจใส่เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เทรนด์ 5D นี้ไม่ใช่เรื่อง “ดี” ภาษาไทยแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายทั้งหมด หลายเทรนด์เป็นทั้งความท้าทายแต่ก็เป็น “โอกาส” ครั้งใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเตรียมพร้อมที่จะคว้า ประเทศไทยก็มีโอกาสเช่นกัน

⦁ปัจจัยรุมปี’64ไทยต้องไปต่อ…
หันมามองระยะสั้นบ้าง หากปี 2563 เป็นปีแห่ง “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่” ของเศรษฐกิจโลก คือ ช่วงที่ทุกประเทศล็อกดาวน์พร้อมๆ กัน ปี 2564 จะเป็นปีของ “อาฟเตอร์ช็อก” ที่มีคลื่นระลอก 2-3 ตามมากระทบเศรษฐกิจจากหลายด้าน แม้อาจจะไม่รุนแรงเท่าปีก่อน แต่มาซ้ำยามที่เราอ่อนแออยู่แล้ว เสมือนตึกที่ร้าวอยู่แล้วจากปี 2563

ยกตัวอย่างอาฟเตอร์ช็อกด้านสาธารณสุข เราได้เห็นแล้ว คือ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบใหม่ ที่ไม่ใช่แค่มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศก็มีระบาดใหม่หลายรอบ

นอกจากนี้ เราจะตั้งความหวังกับวัคซีนต้านไวรัสโควิดทั้งหมดไม่ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ได้นานเท่าไร ผลข้างเคียง คนที่ฉีดแล้วยังเป็นพาหะได้ไหม และไวรัสยังมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นวัคซีนเองก็ต้องมีการปรับไปเรื่อยๆ เหมือนแมวจับหนู

หากความไม่แน่นอน ด้านวัคซีนเหล่านี้ยังอยู่การเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็จะทำได้ยาก อาจต้องรอมีระบบและมาตรฐาน “พาสปอร์ตสุขภาพระหว่างประเทศ” แบบดิจิทัลที่ทุกคนยอมรับ ที่เช็กได้ว่าคนที่จะเดินทางไปประเทศใดมาบ้าง และเคยฉีดวัคซีนตัวไหนไปแล้ว ทั้งหมดนี้แปลว่าเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงถึง 12% ของจีดีพี ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่อื่น

เครื่องยนต์ที่จะกลายเป็นพระเอกโดยจำเป็น อาจกลายเป็นการส่งออกที่อาจได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจใหญ่ๆ ในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการที่ได้วัคซีนต้านไวรัสก่อน ทำให้การใช้จ่ายในประเทศดีขึ้น นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น แต่รายได้เมื่อตีกลับมาเป็นเงินบาทอาจถูกทอนลงเพราะค่าเงินบาทที่น่าจะแข็งขึ้นดังที่พูดไปตอนแรก

เพราะฉะนั้นโดยรวมทั้งหมดนี้คงไม่พอที่จะให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาเท่าก่อนโควิด โดยมากหลายสำนักต่างๆ ก็มองตัวเลขจีดีพีไทยเติบโต 3-4% ในปี 2564 จากที่น่าจะติดลบ 6-7% ในปีก่อน 2563 แปลว่ากระดอนขึ้นมาไม่ค่อยมากเท่าไรจากที่ตกลงไปหนัก และทั้งหมดนี้ยังไม่นับการระบาดรอบใหม่ ที่ยังต้องดูสถานการณ์ต่อเนื่อง

สรุปคือ สภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่แรงพอที่จะช่วยเยียวยาปัญหาหนี้สิน ขาดรายได้และสภาพคล่อง ของคนและธุรกิจหลายกลุ่มที่หมดสายป่านแล้ว จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเพิ่มเติมและเร่งด่วน

⦁ทิศทางธุรกิจสตาร์ตอัพ/เอสเอ็มอี
โควิดเปลี่ยนการใช้ดิจิทัล จากการเป็น “อาหารเสริม”ที่มีก็ดีไม่มีก็ได้กลายเป็นเสมือนน้ำดื่ม ที่แม้แต่คนที่เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ ก็ยังหันมาใช้ ในอาเซียนมีคนเข้าใช้บริการออนไลน์ต่างๆ มากขึ้นถึง 40 ล้านคนในปีเดียว โดยจำนวนมากเป็นคนที่อยู่นอกเมืองกรุง และกว่า 90% บอกว่าจะใช้แอพพลิเคชั่นดิจิทัลต่างๆ นี้ต่อไป (ตามตัวเลขรายงานกูเกิลและเทมาเส็ก)

นอกจากการใช้แอพพ์ดิจิทัลในทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ในทางเศรษฐกิจคำถามที่เราควรจะช่วยกันคิดคือ เราจะใช้กระแสดิจิทัลนี้มาเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยกลุ่มเปราะบางได้อย่างไร?

เท่าที่ศึกษาและสังเกตจากตัวอย่างในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ผมเห็นว่าอย่างน้อยมี 4 ช่องทางที่กระแสดิจิทัลสามารถนำมาใช้ช่วยกลุ่มที่ถูกกระทบจากโควิดได้

หนึ่ง อีคอมเมิร์ซสามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้หลายมิติ เช่น การเพิ่มยอดขายโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง เพราะไม่ต้องมีสาขามากมาย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อเพราะสามารถทำธุรกิจจากที่ไหนก็ได้ขายของไปจังหวัดไหนก็ได้ และที่สำคัญทำให้ธุรกิจ Agile คือ ความยืดหยุ่นทดลองปรับตัวได้เร็ว อย่างมีนักเรียนที่ไปเรียนไม่ได้ช่วงเชื้อไวรัสโควิดระบาด หันมาทดลองขายสินค้าเกี่ยวกับอาหารสุขภาพ จนค้นพบธุรกิจใหม่ที่ปกติคงทำไม่ได้หากต้องใช้ต้นทุนสูงเปิดหน้าร้านทำ

สอง ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีคนและธุรกิจขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก หลายคนอาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคาร เพราะไม่มีรายได้ประจำหรือขาดสินทรัพย์ที่จะมาใช้เป็นหลักประกัน แต่พอคนอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นข้อมูลดิจิทัลของเขาสามารถถูกนำมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อได้ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยใช้ “ข้อมูลดิจิทัล” ที่มีอยู่แล้วของตนแทนเอกสาร

สาม แม้การเรียนการสอนในระดับประถมและมัธยม อาจทำผ่านออนไลน์ 100% ได้ยาก การเรียนออนไลน์มีประโยชน์มากสำหรับคนที่ทำงานแล้วแต่ต้องการหาความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ (Upskill/Reskill) ที่ตนเองยังขาดหรือไม่คุ้น ในยุคปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์และมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ มาช่วยเรื่องนี้จำนวนมากทั้งจากไทยและต่างประเทศ นี่เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลและธุรกิจจะส่งเสริมเรื่อง การเรียนตลอดชีวิต (Life Long Learning) เพราะต้องยอมรับว่าหลังโควิดทักษะที่โลกต้องการอาจเปลี่ยนไปพอสมควร

สี่ เราควรใช้ข้อมูลดิจิทัลเป็น “ไฟฉาย” มาส่องส่วนของเศรษฐกิจที่รัฐเคยมองไม่เห็นและช่วยเหลือไม่ได้ เช่น คนงานนอกระบบประกันสังคม กลุ่มพ่อค้าแม่ขาย แม้ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่หันมาใช้อีเพย์เมนต์มากขึ้น ได้ร่วมโครงการอย่างเราไม่ทิ้งกันและคนละครึ่ง สำหรับประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่คือการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เมื่อก่อนอาจตกสำรวจ

คำถามคือ ตอนนี้เราเอาข้อมูลเหล่านี้มาสร้างระบบสวัสดิการ-ตาข่ายรองรับทางสังคมที่ครอบคลุมขึ้นได้ไหม?

สุดท้ายต้องคำนึงถึงคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) โดยต้อง “ทลายกำแพงกั้น” การเข้าถึงบริการดิจิทัลลง เช่น การชงทุนโครงสร้างพื้นฐานขยายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในต่างจังหวัด และการอบรมให้ความรู้ดิจิทัลพื้นฐานเพื่อให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นที่สำคัญกับการดำรงชีวิตและทำงานได้

⦁รัฐบาลต้องใช้มาตรการพยุงประเทศ
ในระยะสั้น โจทย์คือจะพยุงเศรษฐกิจให้พ้นยุคที่เต็มไปด้วยอาฟเตอร์ช็อกนี้ได้อย่างไร ในวันที่คนเริ่มหมดทั้งเงินเก็บทั้งกำลังใจ

เครื่องมือทางนโยบายเศรษฐกิจมี 3 ชิ้น ที่ควรสอดประสานใช้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างสาธารณสุข x เศรษฐกิจ (การคลัง x การเงิน)

หนึ่ง การเปิด-ปิดเมืองที่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเฉพาะพื้นที่ แทนที่จะใช้สูตรเดียวทั้งประเทศนั้น เหมาะสมแล้วและคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ แต่อาจต้องมีการคิดเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติจริงและสื่อสารให้ชัดเจน มีช่องทางให้คนสอบถามได้ง่ายเพราะเป็นนโยบายใหม่ที่มีความซับซ้อนพอควร และต้องชัดเจนว่าการปิดพื้นที่นั้นๆ เป็นการทำชั่วคราวเพื่อการตรวจเข้มข้นหาคนติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

สอง นโยบายการคลัง ซึ่งควรมีส่วนช่วยเยียวยาผู้ที่ถูกกระทบในพื้นที่ที่คุมเข้มจนประกอบอาชีพทำธุรกิจไม่ได้ไม่ว่าจะเรียกว่าล็อกดาวน์หรือไม่ก็แล้วแต่ นโยบายชุดหนึ่งที่ผมเคยพูดถึงตั้งแต่รอบที่แล้วคือการชดเชยค่าจ้างแรงงานให้ธุรกิจต่างๆ ที่ถูกกระทบโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ธุรกิจเหล่านั้นเลิกจ้างพนักงาน คล้ายแบบที่หลายประเทศเช่น สิงคโปร์ อังกฤษ ทำกันเพราะเมื่อคนตกงานแล้วจะไปหาใหม่ไม่ง่าย

เท่าที่ผมเข้าใจประเทศไทยยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้าน เหลืออยู่เกินครึ่งที่ยังไม่ได้ใช้ ก่อนจะคิดเรื่องมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ การเยียวยาคนที่เดือดร้อนจากการปิดพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้คนสามารถ “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” โดยไม่อดอยาก และข้อมูลที่ได้จากเราไม่ทิ้งกันและคนละครึ่ง ควรเอามาใช้ในการกระจายเงินเยียวยานี้อย่างเต็มที่

สาม นโยบายการเงิน โจทย์ที่ต้องคิดคือ จะต้องมีการพักหนี้อีกหรือไม่ อย่างไร สำหรับคนและธุรกิจที่ถูกกระทบหนักในพื้นที่หรือไม่แค่ไหน? และจะต้องปรับกลไกของสินเชื่อซอฟต์โลนอย่างไร ถึงจะไปถึง SME (กลุ่มขนาดเล็กและย่อย) และคนที่เปราะบางจริงๆ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เข้าใจปัญหาและมีการพิจารณาอยู่แล้ว

อันหนึ่งที่น่าคิดคือ หากธนาคารกลัวที่จะปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มเสี่ยง เราจะมีการใช้ซอฟต์โลนผ่านกลุ่มนอนแบงก์ (Non-bank) ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อกับคนกลุ่มรายได้หรือสินทรัพย์ไม่สูงอยู่แล้วแทนได้หรือไม่อาจทำให้เงินไปถึงเป้าหมายมากกว่า

⦁ลดตื่นตระหนกเพิ่มความมั่นใจ
สุดท้าย ผมคิดว่าเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยในปี 2564 คือ เรื่องของกำลังใจ ที่เกิดความท้อแท้ เพราะสำหรับหลายคนมันเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เคยเห็นมันวิ่งหนีออกไป ซ้ำความกลัวโควิดที่เกิดขึ้นอาจทำให้คนที่ติดหรือเสี่ยงติดถูกมองเป็นผู้ร้ายทั้งๆ ที่อาจไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ยิ่งต้องเว้นระยะจากสังคมทำให้เกิดความเครียดมาก

การสื่อสารที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกันในหมู่ผู้นำเพื่อลดความสับสนตื่นตระหนกและสร้างความมั่นใจให้คนจึงสำคัญมาก ส่วนตัวผมไม่คิดว่าประชาชนหรือคนในองค์กรนั้นๆ ต้องการให้ผู้นำมีคำตอบทุกอย่างแต่ต้องการความชัดเจนในสิ่งที่รู้และว่าอะไรคือสิ่งที่ยังไม่รู้ บางครั้งความถ่อมตนยอมรับในสิ่งที่ไม่รู้ก็เป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนี้ การสื่อสารของผู้นำที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คนที่ลำบาก การขอความร่วมมือจากคนอย่างนอบน้อม อาจดูเป็นสิ่งที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มีความสำคัญมากในยามวิกฤต ที่ต้องการการร่วมมือกันในสังคม เช่นในปัจจุบัน

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image