80 ผู้สมัครสเปกผ่านฉลุย ลุ้นด่าน 2 เฟ้นเหลือ 14 ชิง 7 เก้าอี้ กสทช.

80 ผู้สมัครสเปกผ่านฉลุย ลุ้นด่าน 2 เฟ้นเหลือ 14 ชิง 7 เก้าอี้ กสทช.

รายงานข่าวจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งว่า คณะกรรมการสรรหา กสทช. พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็น ด้านกิจการกระจายเสียง จำนวน 7 คน ด้านกิจการโทรทัศน์ จำนวน 8 คน ด้านกิจการโทรคมนาคม จำนวน 11 คน ด้านวิศวกรรม จำนวน 12 คน ด้านกฎหมาย จำนวน 14 คน ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 7 คน และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จำนวน 21 คน ตามมาตรา 7 ก. และมาตรา 14/2 และตรวจสอบลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งหมด

จากนั้น ผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติจะแสดงวิสัยทัศน์ที่แสดงถึงการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของผู้สมัคร เพื่อนำมากำหนดทิศทางหรือเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. คนละ 15 นาที ต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช. แบ่งเป็น วันที่ 19 มกราคม 2564 ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม วันที่ 20 มกราคม 2564 ด้านวิศวกรรมและด้านกฎหมาย และ วันที่ 21 มกราคม 2564 ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนั้น กรรมการสรรหา กสทช. จะคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 14 คน หรือด้านละ 2 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะคัดเลือกให้เหลือ 7 คน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ได้ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้วไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. … ขึ้น เพื่อพิจารณานั้น

ในคราวประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ครั้งที่ 4 วันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นร่าง พ.ร.บ. ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ. มาถึงวุฒิสภา (กำหนดวันดังกล่าวหมายถึงวันในสมัยประชุม) โดยวุฒิสภาได้รับร่าง (พ.ร.บ.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญต่อการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และมีสมาชิกวุฒิสภาแปรญัตติจำนวน 8 คำแปรญัตติ ในจำนวน 4 มาตรา คณะกรรมาธิการจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่คลี่คลาย ควรลดความเสี่ยงการเดินทางและการรวมตัวกันของบุคคลจำนวนมาก ประกอบกับในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมาธิการไม่สามารถจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามนัยของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 86 วรรค 3(1) ดังนั้น จึงเห็นควรที่วุฒิสภาจะได้ขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน ตามความในมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ

Advertisement

“การสรรหา กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ยังคงดำเนินการต่อไป โดยใช้กฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใหม่ กฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ และบุคคลที่สมัครคัดเลือก กรรมการ กสทช. ทั้ง 80 คน จะยังมีการดำเนินการต่อไป ยังไม่มีการยกเลิก ส่วนจะสามารถดำเนินการจัดหาได้ในวันไหนนั้น ต้องถามทางเลขาวุฒิสภาที่เป็นเจ้าของเรื่อง ตนไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่อง ดูในเรื่องของการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่เท่านั้น” พล.อ.อนันตพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image