มีลุ้น! กฟผ.ผลิตรถอีวีขาย หลังซุ่มศึกษามานาน

“กุลิศ”ประธานบอร์ดกฟผ. ประกาศพร้อมลงทุนยานยนต์อีวีทุกชนิด ศึกษาโอกาส หลังศึกษา วิจัยมานาน ลั่นต้องยึดหัวหาดไว้ให้ได้ ไม่ปล่อยคนอื่นกินพื้นที่ ด้าน “บุญญนิตย์” ผู้ว่ากฟผ.เผยปัจจุบันทำได้ทั้งรถยนต์ รถบัส เรือ รถจักรยานยนต์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแผนการลงทุนของกฟผ.ในอนาคต ว่า นอกจากธุรกิจหลักที่กฟผ.ดำเนิน อีกส่วนที่ต้องเดินหน้าคือ การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่เป็นส่วนผสมของพลังงานสะอาด และเป็นส่วนผสมของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นดิสรัปชั่นใหม่ๆ ไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้นอย่างไร เป้าหมายชัดเจนจะอยู่จุดไหน อาทิ รถอีวีจะไปอย่างไร จำนวนการผลิตอีวีในปี 2530 และ 2040 จะเป็นเท่าไร ผลกระทบจากการใช้รถอีวี จะกระทบรถที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป กระทบน้ำมัน หรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล หรือเอทานอล ซึ่งทั้งหมดมาจากภาคเกษตร จะทำอย่างไร

นายกุลิศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่กฟผ.จะผลิตรถอีวีขายเอง อาจจะทำ เพราะกฟผ.เป็นคนทำอยู่แล้ว จะปล่อยคนอื่นทำได้อย่างไร ในเมื่อกฟผ.ปักธงตรงนี้ ต้องยึดหัวหาดตรงนี้ไว้ให้ได้ จะปล่อยให้คนอื่นมากินพื้นที่ หรือแบ่งแชร์ตรงนี้ ผมว่าไม่ได้ โดยบทบาทเชิงธุรกิจ ถามว่ากฟผ.ทำธุรกิจส่วนนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากกฟผ.เป็นคนทำอยู่แล้ว กรณีชาร์จจิ้ง สเตชั่น สามารถตั้งได้ ตั้งใกล้กับสถานีจ่ายไฟ เพื่อดึงไฟมาใช้ ตามต่างจังหวัดมีจุดพักสามารถตั้งชาร์จจิ้ง สเตชั่นได้ เหมือนต่างประเทศ รถอีวีคาดการณ์ว่าจะวิ่งได้ 400 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง ดังนั้นต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าตามจุดพักต่างๆ กฟผ.สามารถทำได้

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเพิ่มดีมานด์ หรือความต้องการใช้อีวี บทบาทของกฟผ.เวลานี้คือ การทำให้ประชาชนรู้สึกสะดวกสบายกับการใช้อีวี อาทิ การนำรถบัสอีวีมาใช้งาน รถผู้บริหารกฟผ.เป็นปลั๊กอินไฮบริด รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีไบค์ ก็นำมาทดลองใช้ ให้จักรยานยนต์รับจ้างใช้เลย เพื่อให้รู้ว่าการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนไปได้กับอีวี ช่วงแรกราคารถยนต์ชนิดต่างๆอาจสูง แต่ระยะยาวจะมีกลไกด้านการประหยัดจากการผลิตจำนวนมาก จากนั้นจะทำให้ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ถึงช่วงนั้นคนจะมั่นใจว่าอีวีตอบโจทย์

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฟผ.ทำทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เรือ รถบัส อะไรที่ขับเคลื่อนได้เกี่ยวกับไฟฟ้า กฟผ.ศึกษาหมด เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่ของไทย ถ้ามีข้อมูลเยอะ คนที่เกี่ยวข้องก็สามารถตัดสินใจเข้ามาลงทุน หรือต่อยอด โดยกฟผ.ทำหน้าที่ศึกษา วิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้ความรู้ กฟผ.ทำโดยไม่มุ่งหวังกำไร ทุกอย่างที่ทำเพื่อกระตุ้นให้ใช้อีวีมากขึ้นในประเทศ ส่วนบทบาทใหญ่คือการจัดการระบบไฟฟ้าทั้งหมด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image