อินฟราฟัน : ปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ เชื่อมไทย เชื่อมโลก

อินฟราฟัน : ปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ เชื่อมไทย เชื่อมโลก โครงการแลนด์บริดจ์

อินฟราฟัน : ปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ เชื่อมไทย เชื่อมโลก

โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่น่าจับตามอง ครั้งนี้ อินฟราฟัน จะพาทุกคนมารู้จักโครงการนี้ให้มากขึ้น หลังจากที่โครงการนี้เคยได้มีการศึกษาแล้วเมื่อสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาในยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงคมนาคมได้นำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

โดยได้รับงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แยกเป็น 3 ส่วน คือ
1.การพัฒนาท่าเรือนำลึก 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันโดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร
2.การพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร
3.การพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยกระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณในการศึกษาแล้ว และเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย

จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่าการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศมีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ผ่านตอนใต้ของเวียดนาม จากนั้นเดินทางขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาไปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยหากใช้เส้นทางตอนใต้ของเวียดนามเป็นตัวตั้งจะมีเส้นทางขนส่งทางเรือตัดตรงเข้ามา จ.ชุมพร ของไทย ซึ่งการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อม จ.ชุมพร ไปยัง จ.ระนอง เพื่อขนส่งสินค้าออกไปทางทะเลอันดามัน จะลดระยะเวลาขนส่งได้ 2 วันครึ่ง

Advertisement

ขณะที่แนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนอง จะพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต โดยจะมีการนำระบบออโตเมชั่น มาใช้ในการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งจะทำให้ท่าเรือมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้มาก สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ศึกษาแล้วจะสามารถเริ่มโครงการได้ภายใน 2 ปีครึ่ง

นอกจากนี้ ภายในปี 2564 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมศึกษารูปแบบการลงทุนร่วมกับเอกชนแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ของท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 75 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ในส่วนของมอเตอร์เวย์ โดยกรมทางหลวง (ทล.) จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษา

รวมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เพื่อเชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2565 หลังจากนั้นจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

Advertisement

เชื่อว่าเมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจและเลือกเข้ามาลงทุนแน่นอน!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image