เอไอเอส ยืนหนึ่งคลื่นมากสุด ลุยลงทุนต่อเนื่อง คาดลูกค้า 5G เป็นหลักล้านในปีนี้

เอไอเอส ยืนหนึ่งคลื่นมากสุด ลุยลงทุนต่อเนื่อง คาดลูกค้า 5G เป็นหลักล้านในปีนี้

วันที่ 13 มกราคม นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่ 723 – 733 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 778 – 788 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อปี 2562 ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 1,881.488 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 16,933.392 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. เรียบร้อยแล้ว ตามเงื่อนไขของการชำระเงิน โดยเงินค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะนำส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

สำหรับคลื่นความถี่​ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์​ ดังกล่าว​ได้รับการจัดสรร​เนื่องจาก เอไอเอส ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประสงค์ขยายชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ จะต้องเข้ามารับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าชำระค่าประมูลใบอนุญาต เพื่อได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เดิมใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล เปลี่ยนมาให้บริการในกิจการโทรคมนาคม โดยจะได้รับใบอนุญาตในวันที่ 15 มกราคมนี้ ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการครบทุกย่าน ทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวม 1420 เมกะเฮิรตซ์ (ไม่รวมคลื่นความถี่ที่ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ) แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 40 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G จำนวน 1330 เมกะเฮิรตซ์

นายสมชัย กล่าวว่า เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายเดียว ที่ไม่ได้เข้าประมูลคลื่นความถี่เพื่อเอาปริมาณ แต่มีการวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน และประเมินรอบด้าน ซึ่งตามมาตรฐานเทคโนโลยี 5G โดย 3GPP ระบุว่า คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ที่จำนวนเต็ม 30 เมกะเฮิรตซ์ จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการเข้าประมูลย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่มอีก 10 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 30 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ต้องมีจำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ จึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ต้องมีจำนวน 400 เมกะเฮิรตซ์ ติดต่อกัน จึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรองรับดิจิทัลโซลูชันส์ให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต จึงเห็นได้ว่าจำนวนคลื่นในทุกย่านความถี่บนเทคโนโลยี 5G นั่น อยู่ในระดับมาตรฐานการให้บริการทั้งสิ้น

Advertisement

“ปีนี้ยังคงลงทุนต่อเนื่อง เพื่อทำให้เอไอเอสเป็นผู้นำ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่างบลงทุนมีจำนวนเท่าไร และจะลงทุนส่วนใดบ้าง เนื่องจากอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เพื่อพิจารณา ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะอนุมัติมากหรือน้อย แล้วแต่บอร์ดจะพิจารณา จากนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง แต่เบื้องต้นประเมินว่า จะไม่ต่างจากปีก่อนที่งบการลงทุนอยู่ที่ 35,000 ล้านบาทมากนัก เพราะแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกระลอก แต่ขณะที่ ความต้องการใช้งานของลูกค้าในภาพรวมตลาดยังเพิ่มขึ้น 20-30% ต่อปี จึงคาดว่ารายได้อาจทรงตัวหรือติดลบเล็กน้อย เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ กำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง และการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น สวนทางกับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าทั่วไปใช้บริการ 5G เป็นหลักล้านเลขหมายขึ้นไป จากสิ้นปี 2563 ที่มีลูกค้าประมาณหลักแสนราย ส่วนลูกค้าองค์กรคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที), โรโบติก, อักเมนต์ เรียลลิตี้ (เออาร์), เวอร์ชวล เรียลลิตี้ (วีอาร์) มากขึ้น” นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ แม้เอไอเอสจะมีคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์แล้ว แต่ยังสนใจเป็นพันธมิตรร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ในคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประกาศนโยบายในการเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทุกราย ดังนั้น เชื่อว่า เมื่อบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นเอ็นทีแล้ว จะเปิดกว้าง ไม่ใช่คนบางคนไปคุยแล้วคิดว่าจะได้คนเดียว โดยเอ็นทีจะต้องมองหาโซลูชันส์ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะผูกขาดกับพันธมิตรเพียงรายเดียว

Advertisement

“เราตระหนักอยู่เสมอว่า คลื่นความถี่ คือทรัพยากรสาธารณะอันทรงคุณค่า ดังนั้น หลังจากการประมูลได้แต่ละคลื่นมาให้บริการ เอไอเอส จึงเร่งเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย เพื่อส่งต่อประโยชน์ไปยังประชาชน และทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้ล่าสุด ได้รับการรับรองจาก กสทช.ว่า เอไอเอส สามารถขยายเครือข่ายในคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้เกินกว่าที่ กสทช .กำหนด (คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 40% ของจำนวนประชากร โดยเอไอเอสขยายได้ 88.47% ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 50% ของจำนวนประชากร โดยเอไอเอส ขยายได้ 93.59%) ซึ่งทีมงานจะยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยี 5G จากทุกคลื่นความถี่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกัน มาสร้างประโยชน์ทันที ตามเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอัจฉริยะด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์” นายสมชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image