‘สมาคมตราสารหนี้ไทย’ มองโควิดรอบใหม่กระทบเบากว่ารอบแรก เชื่อเอกชนจ่อออกหุ้นกู้กว่า 7-7.5 แสนล้านบาท

‘สมาคมตราสารหนี้ไทย’ มองโควิดรอบใหม่กระทบเบากว่ารอบแรก เชื่อเอกชนจ่อออกหุ้นกู้กว่า 7-7.5 แสนล้านบาท

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 ประเมินว่าบริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดทั้งปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางมีกรอบที่จำกัดในการปรับตัวขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะทยอยขยับขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“สถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบนี้ ถือว่าไม่กระทบมากเท่ากับรอบที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเอกชนยังจะหันมาออกหุ้นกู้เพิ่มอีก เพราะต้องตุนสภาพคล่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยอดการออกหุ้นกู้คาดว่าน่าจะปรับขึ้นเล็กน้อย จากปี 2563 ซึ่งมีหุ้นกู้ออกประมาณ 6.38 แสนล้านบาท ปีนี้น่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7-7.5 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ปรับขึ้นน้อยเพราะเงินฝากในธนาคารยังคงล้นระบบ ธนาคารจึงเสนอสินเชื่อให้ภาคธุรกิจด้วยดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ จูงใจให้ธุรกิจไปใช้สินเชื่อจากธนาคารมากกว่า” นายธาดา กล่าว

นายธาดา กล่าวว่า ส่วนความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ส่งผลให้บริษัทเอกชนจำนวน 12 ราย ขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด โดยหุ้นกู้ที่เลื่อนชำระจะครบกำหนดชำระอีกครั้งในปี 2564 และ 2565 แม้ว่าบริษัทเอกชนบางกลุ่มจะเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงที่ตลาดฟื้นตัว หรือในปลายปี 2563 เพื่อนำมาชำระคืนนี้ในปีนี้แล้วก็ตาม โดยพบว่า ยังมีเอกชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางจากโควิด-19 อาทิ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ยังไม่สามารถระดมทุนรอบใหม่ได้ รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงประเมินว่ากลุ่มนี้จะยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้แน่นอน เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะขอเลื่อนจ่ายหนี้ออกไปอีกครั้ง

นายธาดา กล่าวว่า ภาพรวมในปี 2563 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญแรงกดดันและความกังวลต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่ยังเห็นมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น 4.5% คิดเป็นมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท ปรับขึ้นมาจาก 13.52 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็นเพราะมีการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ตราสารหนี้ประเภทอื่นมีมูลค่าคงค้างลดลง ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดรองลดลง 5.3% จาก 8.8 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2562 เป็น 8.3 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2563 โดยการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2563 มีมูลค่ารวม 683,559 ล้านบาท ลดลง 36 % จากปีก่อนหน้าที่มียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เนื่องจากเงินฝากในระบบสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินลดการออกตราสารหนี้ ขณะเดียวกันผู้ออกในกลุ่มอิงเศรษฐกิจจริง (Real sector) ก็หันไปใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าสัดส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ต่อประชาชนทั่วไป (พีโอ) เพิ่มขึ้นเป็น 28% ของยอดการออกรวมจาก 18% ในปีก่อนหน้า ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอันดับเครดิตดีตั้งแต่ A- ขึ้นไป

Advertisement

นายธาดา กล่าวว่า ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มียอดไหลออก 110,849 ล้านบาท ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมียอดการไหลเข้า 46,824 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2563 มียอดการไหลออกสุทธิ 64,025 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,212 ล้านบาท และไหลออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 72,237 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นปี 2563 นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 857,151 ล้านบาท ลดลงจาก 916,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า

นายธาดา กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ThaiBMA ได้เปิดตัวระบบ Smart Funding Solution ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกบริษัท ผู้ออกตราสารหนี้ในการบริหารจัดการการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น วิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง จำลองการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ โดยระบบ Smart Funding Solution เป็น Web Based Application ผู้ออกตราสารหนี้ที่ประสงค์จะใช้งานสามารถลงทะเบียนเปิด Account ได้ที่ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โทร 0-2257-0357 ต่อ 352-353 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image