คิดเห็นแชร์ : แชร์มุมมองเรื่อง‘ดอกเบี้ย’

คิดเห็นแชร์ : แชร์มุมมองเรื่อง‘ดอกเบี้ย’ สําหรับคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์”

คิดเห็นแชร์ : แชร์มุมมองเรื่อง‘ดอกเบี้ย’

สําหรับคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” บทความแรกของปี 2564 ของผม ขอเขียนถึงเรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นให้มีการพูดถึงในตลาดการเงินตลอด 1-2 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีความเกี่ยวโยงกัน นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องของ “อัตราดอกเบี้ย” จะเป็นประเด็นที่กระทบไปยังตลาดการเงิน ภาคธุรกิจ รวมถึงลูกหนี้สถาบันการเงินอย่างพวกเราทุกคนด้วย

สืบเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการณ์ “โควิด-19” ส่งผลให้แทบจะทุกประเทศทั่วโลก เร่งอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องทั้งจากมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ การแจกเงินในรูปแบบต่างๆ และการลดภาษีโดยรัฐบาลแต่ละประเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะการขยับตัวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ที่ส่งแรงกระเพื่อมไปยังตลาดการเงินทั่วโลก (ตลาดพันธบัตร ตลาดปริวรรตเงินตรา) ผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing : QE ผลจากหลายๆ มาตรการดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกกลับมาสดใสอีกครั้ง ด้วยความหวังที่ว่าวิกฤตโควิด-19 น่าจะเริ่มคลี่คลายได้หลังการมีวัคซีนนั่นเอง

ประเด็นที่ 1 โลกเข้าสู่ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่างๆ และนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ส่งผลให้โลกการเงินเข้าสู่ยุค “New normal” เราได้เห็นเม็ดเงิน Fund flow ไหลทะลักเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทั่วโลก รวมทั้งสภาพคล่องที่ล้น ส่งผลให้ Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นอย่างผิดปกติทันที โดยตามทฤษฎีการเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ (โดยปกติแล้วนักวิชาการด้านการเงินและนักลงทุน จะใช้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวแทนของอัตราดอกเบี้ยในการคำนวณ) จะส่งผลบวกต่อทุกทฤษฎีการประเมินมูลค่าหุ้น และนอกจากนี้ยังส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนด้วย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จึงทำให้นักลงทุนแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า การซื้อพันธบัตรหรือ การฝากเงินในธนาคาร ซึ่งก็คือการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นนั่นเอง

Advertisement

สำหรับประเด็นนี้ในเชิงลึกแล้ว ผมแนะนำให้ผู้อ่านบทความของผมที่มีความสนใจในเรื่องนี้ ติดตามอ่านเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์เชิงปริมาณของฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่ผมเขียนอธิบายประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของ Valuation ตลาดหุ้นกับอัตราดอกเบี้ยในเชิงลึก

นอกจากนี้ ผลของการดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้ตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลกเกิดความผันผวนตามไปด้วย โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนักของมาตรการของแต่ละประเทศ ซึ่งในบทความนี้ผมจะขอเน้นย้ำไปที่มาตรการของสหรัฐที่มีน้ำหนักมากในขณะนี้ กล่าวคือผลจากการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE ที่ปริมาณมหาศาลเป็นประวัติการณ์และการกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำเป็นประวัติการณ์ของ FED รวมถึงมาตรการการคลังของรัฐบาลสหรัฐ ได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทันทีเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ ทั่วโลก และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องอีก หากสหรัฐยังดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อไป ประเด็นนี้เกี่ยวพันกับนักธุรกิจที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกต้องพิจารณาตลอด 1-2 ปีนี้ อย่างแน่นอน

ก่อนที่จะไปประเด็นถัดไป ผมขอกล่าวถึงตลาดหุ้นกู้เอกชน ในประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง ทั้งสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนและบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้ เนื่องจากสภาพตลาดหุ้นกู้ในขณะนี้ที่ผิดปกติอย่างมาก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลจะต่ำก็ตาม แต่สำหรับตลาดหุ้นกู้นั้นกลับกลายเป็นว่า นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนเฉพาะหุ้นกู้ที่มี Credit rating ดีๆ หรือที่เรียกว่า Investment grade เท่านั้น ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ประเภท Investment grade กับหุ้นหุ้นกู้ที่มี Credit rating ต่ำๆ หรือหุ้นกู้ประเภท Non-Investment grade สูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ผมมีข้อมูลตลาดหุ้นกู้ของประเทศไทย ประเด็นนี้สะท้อนว่านักลงทุนยังกลัวสถานการณ์เศรษฐกิจและไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงเรื่องของการผิดนัดชำระ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา และระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ได้

Advertisement

ประเด็นที่ 2 ตลาดการเงินทั่วโลกจะโกลาหลอีกครั้ง เมื่อ FED เริ่มต้นการผ่อนคลายมาตรการ QE และเริ่มต้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ถือเป็นตลกร้ายที่นักลงทุนในตลาดการเงินตอนนี้เริ่มกลัวตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังจากที่ “เสพติดอัตราดอกเบี้ยต่ำ” กันไปแล้วนั่นเอง โดยในปี 2556 เพียงแค่FED แถลงถึงโอกาสในการลดมาตรการ QE ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551 ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความโกลาหลทันที โดยที่ FED ยังไม่ปรับลดมาตรการ หรือเริ่มต้นขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยซ้ำ ซึ่งฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ประเมินมีโอกาสที่ FED จะเริ่มต้นผ่อนคลายมาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 และหากเป็นไปตามคาด FED น่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2566

ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ นักลงทุน นักธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไป จำเป็นต้องเริ่มวางแผนการเงินในอนาคต รองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากความโกลาหลนี้ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image