เครียดโควิด! ‘ซีเอ็มเอ็มยู’ ชี้คนไทยหันพึ่งสายมูเตลูคลายเหงา

เครียดโควิด! ‘ซีเอ็มเอ็มยู’ ชี้คนไทยหันพึ่งสายมูเตลูคลายเหงา

นายบุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (ซีเอ็เอ็มยู) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลากหลายด้าน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นายบุญยิ่ง กล่าวต่อว่า จากปัจจัยดังกล่าว นำมาสู่การวิจัยหัวข้อการตลาด ‘Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น’ โดยได้สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,200 ตัวอย่าง พบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวล ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 คิดเป็น 76.8% ตามมาด้วยอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม 2.5 คิดเป็น 74.6% ด้านสังคมและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คิดเป็น 65% ด้านเศรษฐกิจ คิดเป็น 64% ด้านเทคโนโลยี คิดเป็น 62.8% และด้านการเมือง คิดเป็น 62.6%

นายบุญยิ่ง กล่าวว่า จากความกังวลและความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้คนไทยต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึกซึ่งพบว่าคนไทยหันหน้าพึ่งความเชื่อโชคลาง โดยที่ 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุดคือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2.พระเครื่องวัตถุมงคล 3.สีมงคล 4.ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ ผ่านช่องทาง ได้แก่ โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ คิดเป็น 73.8% บุคคลรอบข้าง อาทิ พ่อแม่ พี่น้อง คิดเป็น 59.6% ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ คิดเป็น 29.7% หนังสือพิมพ์และนิตยสาร คิดเป็น 20.1% และสื่อโทรทัศน์และวิทยุ คิดเป็น 19.6%

นอกจากนี้ ยังพบว่า อินฟลูเอนเซอร์ ได้เข้ามามีอิทธิพลและผลต่อการรับรู้และวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลที่ติดตามจำนวน 81.9% เพราะเนื้อหา ตามมาด้วย 69.2% เพราะรูปแบบการนำเสนอ และ 45.3% เพราะความน่าเชื่อถือ ในขณะที่แฟลตฟอร์มที่คนไทยใช้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดคือ 1.ยูทูป 2.เฟซบุ๊ก และ 3.อินสตาแกรม โดยที่กลุ่มเจนเอ็กซ์และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ นิยมใช้แฟลตฟอร์มเฟซบุ๊กและยูทูป กลุ่มเจนวายนิยมใช้แฟลตฟอร์มยูทูปและเฟซบุ๊ก ส่วนกลุ่มเจนซีนิยมใช้แฟลตฟอร์มยูทูปและอินสตาแกรม

Advertisement

นายบุญยิ่ง กล่าวว่า อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่หน้าสนใจ จากการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้คนไทยเข้าสู่การสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์คอมมูนิตี้มากขึ้น ผ่านหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 2.กลุ่มท่องเที่ยว 3.กลุ่มครอบครัว 4.กลุ่มสุขภาพและความงาม 5.ความบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ 6. ธรรมชาติ 7.ชอปปิ้ง 8.การศึกษา 9.การเงินและการลงทุน และ 10.สัตว์เลี้ยง โดยการมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ ได้แก่ ติดตามและกดไลค์ คิดเป็น 72.9% แชร์ข้อมูล คิดเป็น 44.6% แสดงความคิดเห็น คิดเป็น 37.2% และซื้อ-ขายสินค้า คิดเป็น 24.4%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image