ปลดล็อกซอฟต์โลน 5แสนล้าน แก้พรก.อุ้ม SME ฝ่าโควิดสุดทาง แบงค์แห่หนุน

ปลดล็อกซอฟต์โลน 5แสนล้าน แก้พรก.อุ้ม SME ฝ่าโควิดสุดทาง แบงค์แห่หนุน  

วันนี้ (18 ม.ค.) พาดหัวใหญ่ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 18- วันพุธที่ 20 มกราคม รายงานว่า รัฐบาลพลิกเกม ใช้แท็กติกฝ่ายนิติบัญญัติ หารือแบงก์ชาติ กฤษฎีกา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชงแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ส่งประธานสภา “ชวน หลีกภัย” ดันวาระด่วนให้ “ประยุทธ์” เร่งแก้ล็อกกฎหมายแก้ปัญหาทันการณ์ไวรัสโควิดระบาดรอบใหม่ อุ้มเอสเอ็มอีสุดทาง ทั้งขยายเวลาขอกู้ ยืดเวลาชำระหนี้ได้ 5 ปี เพิ่มวงเงินกู้ รัฐรับชดเชยหนี้เสียเพิ่ม 80% เปิดทางแบงก์ขึ้นดอกเบี้ย 5% บาลานซ์ความเสี่ยงหนี้เสีย ธนาคารพาณิชย์แห่หนุนชี้จะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น หลังแช่แข็งปล่อยเงินออกแค่ 1.2 แสนล้าน

ความพยายามของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน ที่มีเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงสูง ทำให้ปล่อยกู้ได้เพียง 1.2 แสนล้าน มีทางออกใหม่ โดยให้ตัวแทนรัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติหารือด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การออกกฎหมายใหม่ เปิดทางให้มีการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีได้ง่าย และช่วยเหลือธุรกิจได้ทันเวลา ในช่วงการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19

ชงตรงสู่ ปธ.รัฐสภา-นายกฯ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กมธ.ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก้ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2564

“เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกำหนดฉบับเดิม เนื่องจากติดเงื่อนไขในข้อกฎหมายต่างๆ ทำให้ SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ภายหลังที่กมธ.ได้หารือข้อมูล รายละเอียด และเห็นชอบในหลักการร่วมกันกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”

Advertisement

ทั้งนี้ หากที่ประชุมเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเสนอให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเป็นการเร่งด่วน นอกจากนี้ จะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการได้เสนอต่อสภา ให้เสนอเป็นพระราชกำหนด เพราะจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) มีสาระสำคัญโดยแก้จากพระราชกำหนด ฉบับเดิมประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2563 อาทิ

ยืดเวลาแบงก์พาณิชย์ทำคำขอกู้

กฎหมายฉบับใหม่นี้จะแก้นิยามคำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” จากเดิมที่ระบุว่า “วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคาร” แก้ไขเป็น วิสาหกิจที่ “ไม่มีวงเงินสินเชื่อ” อยู่กับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 หรือมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

Advertisement

มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 ซึ่งกำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอกู้เงินของสถาบันการเงินต่อธนาคารแห่งประเทศไทย จากเดิมภายใน 6 เดือน นับแต่กฎหมายประกาศใช้บังคับ โดยแก้ไขด้วยการเพิ่มถ้อยคำ “แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไปและยังมีวงเงินเหลืออยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกคราวละไม่เกิน 6 เดือนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด”

เพิ่มวงเงินกู้จากหนี้เดิม 30%

แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 เพื่อให้ผู้ประกอบวิสาหกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากการสนับสนุนของรัฐได้ 1.วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 2.วงเงินที่ให้กู้ยืมสำหรับวิสาหกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ต้องเป็นการให้สินเชื่อที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท

เปิดทางแบงก์คิดดอกเบี้ย 5%

ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยสำหรับในระยะเวลา 5 ปีแรก ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 2 ต่อปีเป็นระยะเวลาหกเดือนแรก นับแต่วันที่ผู้ประกอบวิสาหกิจได้รับสินเชื่อ

แก้ไขมาตรา 10 จากเดิมให้สถาบันการเงินชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืม ตามพระราชกำหนดนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ โดยแก้ไขจากของเดิมที่ให้สถาบันการเงินคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยภายใน 2 ปี

ธปท.ชดเชยหนี้เสีย ร้อยละ 80

และแก้ไขมาตรา 11 ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงิน ให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายได้รับชดเชยความเสียหายตามอัตราการชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 80 ของความเสียหายของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้ เพิ่มเติมจากของเดิมที่ หากเงินกู้ยืมกลายเป็นหนี้เสีย รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกินร้อยละ 70 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกินร้อยละ 60 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท

แบงก์หนุนแก้ปมซอฟต์โลน

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย ว่า หากมีการปลดล็อกเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ก็น่าจะช่วยสภาพคล่องผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก ซึ่งแบงก์จะกล้าปล่อยสินเชื่อให้ได้มากขึ้น จากการที่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 5% ต่อปี จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แบงก์ก็จะเน้นปล่อยลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ และกลุ่มระดับกลางถึงบน

“จะช่วยให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่มีความเสี่ยงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ดังนั้น หากสามารถให้ธนาคารปล่อยดอกเบี้ยที่แพงขึ้น จะช่วยหนุนให้เม็ดเงินซอฟต์โลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และถึงลูกค้ารายเล็กเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยให้สามารถคิดได้ 5% ต่อปี เชื่อว่าสถาบันการเงินยังไม่ได้คิดเต็มเพดานที่กำหนด 5% ต่อปี แต่จะคิดในอัตราความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งโดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยลูกค้าที่ดีและความเสี่ยงสูงไม่มากจะอยู่ที่ราว 3% และการคำนวณอัตราดอกเบี้ยจะปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และคิดอัตราต่ำในปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 3-3.5% และในปีถัดไปจะบวกเพิ่มอีกประมาณ 0.50% แต่โดยรวมไม่เกิน 5%

ส่วนการผ่อนคลายเกณฑ์ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่จำเป็นต้องมียอดสินเชื่อคงค้างกับธนาคาร จากเดิมต้องมียอดสินเชื่อคงค้างกับธนาคาร 500 ล้านบาทนั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับธนาคารเลยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่ขอเปิดวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไว้ แต่ไม่เคยใช้สินเชื่อเลยหรือใช้สินเชื่อจำนวนน้อย กลุ่มนี้ก็สามารถเข้าถึงได้ จากเดิมจะปล่อยสินเชื่อกับลูกค้ารายเดิมเท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ยังต้องจับตาดูว่าการแก้ไขกฎหมายซอฟต์โลนจะปรับในส่วนวงเงินกู้ใหม่ จากเดิมกำหนดได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่มีกับสถาบันการเงินแบบใด เนื่องจากธุรกิจมีความต้องการที่แตกต่างกัน และได้รับผลกระทบไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มท่องเที่ยวและสายการบิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะ รายได้ไม่มี อาจจะต้องให้วงเงินสูงกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพราะหากมีการกำหนดวงเงินเหมือนกันทุกธุรกิจอาจจะไม่เหมาะสมและแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด

หนุนสภาพคล่องธุรกิจตรงจุด

“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าการผ่อนคลายเกณฑ์จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ แต่ภายหลังจากมีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาคมธนาคารไทย ภาคธุรกิจ ทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ เป็นต้น ก็น่าจะแก้ไขการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนได้ตรงจุดขึ้น และสามารถปล่อยสภาพคล่องได้กระจายและทั่วถึงมากขึ้น จากปีก่อนที่ทุกฝ่ายรีบทำออกมา ซึ่งยังไม่รู้ผลกระทบว่าจะยาวแค่ไหน ดังนั้น ปีนี้การอัดฉีดน่าจะดีขึ้นและตรงจุดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับคงช่วยไม่ได้ทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การปลดล็อกเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าน่าจะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับใหม่ออกมาทดแทนของเดิม เพราะหากมีการแก้ไขฉบับเดิมจะใช้เวลานาน ซึ่งมองว่าน่าจะออกฉบับใหม่ และยกเลิกของเดิมที่จะครบกำหนดในเดือน เม.ย.นี้

ปล่อยซอฟต์โลน 1.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 11 ม.ค. 2564 มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 123,431 ล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับซอฟต์โลน 73,960 ราย สินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image