จอดป้ายประชาชื่น : หวั่นบานปลาย

จอดป้ายประชาชื่น : หวั่นบานปลาย ผลกระทบจาก การแพร่ระบาดโควิด-19

จอดป้ายประชาชื่น : หวั่นบานปลาย

ผลกระทบจาก การแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบแรกยังไม่ทันหายดี ก็ต้องเจอการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง ถือเป็นวิกฤตรุนแรงไม่ต่างจากเดิม

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่การระบาดรอบแรก ทิ้งรอยแผลของผลกระทบไว้ ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้มระเนระนาด เปรียบเสมือนผู้ป่วยที่เข้าไอซียู และชีพจรอ่อนลงทุกที

ทางรอดที่มีอยู่ คือ การลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนหลักๆ ของภาคบริการที่มีราคาสูงสุดคือ พนักงาน เมื่อไร้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ เพราะการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไป ผู้ให้บริการก็ต้องปิดตัวลงชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้หยุดตามด้วย ส่งผลโดยตรงต่อพนักงานทันที

Advertisement

ในช่วงไตรมาส 2/2563 มีแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน จากการจ้างงานที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 3.9 ล้านคน และในไตรมาส 2/2563 มีผู้ว่างงานเพิ่มในทุกสาขาอาชีพอีกกว่า 7.5 แสนคน

พอมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และการเดินทางเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจกลับมาหมุนวงล้อใหม่ ผู้ป่วยไอซียูในตอนแรกฟื้นตัว กลับมาเริ่มหายใจคล่องขึ้น แม้จะยังเดินไม่แข็งแรงเหมือนในช่วงปกติก็ตาม

จนเจอการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และยังไม่มีทีท่าจะสามารถคุมการระบาดได้ในช่วงใด รัฐบาลจึงกลับมาใช้มาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้น แม้จะไม่เท่าการระบาดรอบแรก ที่ประกาศล็อกดาวน์ทันที แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ที่การเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ยาก มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมกลับมาอีกครั้ง การสั่งปิดร้านอาหาร หรือธุรกิจบริการต่างๆ ทำให้ภาพไม่แตกต่างกันมากนัก

Advertisement

เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า โควิด-19 รอบนี้ ส่งผลกระทบกับแรงงานกว่า 4.7 ล้านคน และมีประมาณ 1.2 ล้านคน ที่อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรม ที่มีความเสี่ยงจะตกงานเพิ่มอีกกว่า 1 แสนคน

เมื่อตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้นภาครัฐจึงต้องมีแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผลกระทบของแรงงานไร้อาชีพกลายเป็นปัญหาบานปลายในสังคมตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image