เมื่อวันที่ 20 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อในประเทศฟิลิปปินส์ เผยแพร่รายงานข่าวว่า คณะกรรมการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของฟิลิปปินส์ (Tariff Commission: TC) เตรียมทำประชาพิจารณ์สินค้า 37 กลุ่มภาษี ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์และปูนซีเมนต์ที่นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งอาจถูกระงับสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร เพื่อตอบโต้ จากการที่ไทยปฏิเสธการสำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ คณะกรรมการภาษีศุลกากรของฟิลิปปินส์จะจัดทำประชาพิจารณ์ผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 27 มกราคม เวลา 10.00 น. เพื่อเสนอรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่จะถูกระงับสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่ประเทศไทยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์
รายงานข่าวระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่จัดอยู่ในการประชาพิจารณ์จะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทรถแทรกเตอร์การเกษตร รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อการขนส่งบุคคลโดยเฉพาะ ยานยนต์สำหรับขนส่งสินค้า ถังเชื้อเพลิงและชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ของยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของรถจักรยานยนต์
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรบางชนิดเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวขัดสีกึ่งสำเร็จหรือข้าวขัดสีสำเร็จ น้ำมันถั่วเหลือง เครื่องปรุงและเครื่องปรุงรส ครีมเทียมที่ไม่ใช่นม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ แผ่นบอร์ด แผ่นชีท แผงกระเบื้องและสิ่งของที่คล้ายกันของผลิตภัณฑ์ฉาบ ปูนซีเมนต์ขาว น้ำมันหล่อลื่น ผงชูรส ที่ถูกระบุด้วยว่าอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรทั้งนี้ ในหนังสือแจ้งกำหนดการประชาพิจารณ์ ยังระบุให้ผู้ที่สนใจส่งเอกสารแสดงจุดยืนมาที่เว็บไซต์ของคณะกรรมการได้
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ส่งคำร้องไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขออำนาจในการตอบโต้ต่อประเทศไทยเพื่อเป็นการบังคับให้รัฐบาลไทยแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้านภาษีบุหรี่ที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ให้เป็นไปตามคำตัดสินครั้งแรกขององค์การการค้าโลกเมื่อปี 2554 ที่ให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะ และยังชนะการอุทธรณ์ของไทยในเวลาต่อมาอีกด้วย โดยฟิลิปปินส์ขออนุญาตองค์การการค้าโลกเพื่อระงับสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่ประเทศไทย ครอบคลุมการค้ามูลค่า 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคนิคบางประการเกี่ยวกับองค์ประกอบขององค์กรอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลก ส่งผลให้มีการระงับการประชุมของคณะกรรมการระงับข้อพิพาท
“ข้อพิพาทเรื่องภาษีบุหรี่เริ่มต้นเมื่อปี 2551 ยืดเยื้อมากว่า 12 ปีเนื่องมาจากกลยุทธ์ในการชะลอคดีของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกบุหรี่ของฟิลิปปินส์และอุตสาหกรรมยาสูบในท้องถิ่น”รายงานข่าวระบุ