‘โตโยต้า’เลือกไทยนำร่อง ตั้ง‘ศูนย์สนับสนุนสังคม’

บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing: TDEM เป็นสำนักงานระดับภูมิภาคของโตโยต้าในเอเชีย และเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (TMT) เป็นบริษัทผลิตและขายรถยนต์โตโยต้า รวมถึงให้บริการหลังการขายในประเทศไทย) สำนักงานระดับภูมิภาคของโตโยต้าในเอเชีย รับผิดชอบงานด้านวิศวกรรม การผลิต และส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดตัว ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม (Toyota Social Support Center : TSSC) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) จุดแข็งหลักเอกลักษณ์ของโตโยต้าและได้รับการยอมรับทั่วโลก

ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) เป็นหลักการพื้นฐานของโตโยต้าใช้บริหารจัดการ เกิดขึ้นจากระบบควบคุมการผลิตขององค์กร มุ่งกำจัดความสูญเปล่า มีเป้าหมายส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพให้ถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วที่สุดตามคำสั่งซื้อ รากฐานของแนวคิดระบบ TPS มีต้นกำเนิดมาจากเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ มร.ซากิจิ โตโยดะ บิดาของผู้ก่อตั้งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน คิดค้นขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบนี้ก็มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานในแขนงอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการผลิตและการขนส่ง ปัจจุบันยังใช้ในส่วนงานการวางแผน การขาย และการบริหารจัดการงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง

โตโยต้าเชื่อว่าระบบ TPS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถขององค์กร เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันอย่างไม่หยุดยั้งสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำตามคำมั่นสัญญาของโตโยต้าในการนำเสนอคำตอบด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปครั้งสำคัญในรอบศตวรรษนี้

ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม (Toyota Social Support Center: TSSC) ไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรที่โตโยต้าเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของระบบ TPS เพื่อให้องค์กรนั้นๆ สามารถระบุและแสดงให้เห็นถึงปัญหาเพื่อการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง อันเป็นแนวคิดหลักของระบบ TPS

Advertisement

มร.คัทสึชิ นิชิกาวา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ควบคุมหน่วยงานส่งเสริมระบบการผลิตแบบโตโยต้า และศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า “เราตั้งใจให้ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ไม่เพียงมุ่งปรับปรุงกระบวนการเท่านั้น แต่ยังต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ในการแสดงให้เห็นถึงปัญหา และแก้ไขปัญหาให้กับองค์กรที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเรา เป็นการสนับสนุนองค์กรนั้นๆ พร้อมไปกับการช่วยเหลือสังคมไปในเวลาเดียวกัน เพื่อที่สุดท้ายแล้วพวกเขาจะสามารถบริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นได้ด้วยตนเอง เราอาศัยระบบ TPS เป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย

นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสส่งเสริมและพัฒนาสังคมด้วยระบบ TPS ถือเป็นจุดแข็งภายในองค์กรของเราที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานมาหลายทศวรรษ และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางอยู่ ดังนั้น เราจึงได้เริ่มโครงการนี้ในประเทศไทยก่อน จากนั้นจะขยายผลต่อยอดความสำเร็จของโครงการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย”

นับตั้งแต่การเปิดศูนย์โตโยต้าฯ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 โครงการแรกที่ทางศูนย์โตโยต้าฯ สนับสนุนคือ โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีเป้าหมายลดระยะเวลารอคอยให้กับคนไข้บนพื้นฐานของแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างโรงพยาบาลบางบ่อ และบริษัท TDEM ในส่วนแผนกจัดการทรัพย์สินและชุมชนสัมพันธ์, ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบจัดยาตามใบสั่งของแพทย์ และตามหลักการ จัสต์ อิน ไทม์ (Just In Time) หรือการส่งมอบแบบทันเวลาพอดี

Advertisement

คณะทำงานได้วิเคราะห์และแยกแยะขั้นตอนการทำงาน ระบุขั้นตอนที่สามารถปรับปรุงได้ รวมถึงยังช่วยนำเสนอขั้นตอนการทำงาน ระบุส่วนงานต้องปรับปรุงและทำให้การเคลื่อนไหวของบุคลากรง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น ผลลัพธ์คือระยะเวลาเฉลี่ยคนไข้ต้องรอรับยาลดลงจาก 75 นาที เหลือเพียง 30 นาที หรือเท่ากับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 60% ช่วยลดเวลาคนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล และเพิ่มความอุ่นใจให้กับคนไข้ได้ในอีกทางหนึ่ง

นางพัชรี ศรานุรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลบางบ่อ กล่าวว่า “ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง แบ่งปันองค์ความรู้และแนวคิดพื้นฐานของระบบ TPS ทำให้ส่วนงานเภสัชกรรมสามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ดีขึ้น โดยนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการจ่ายยา และการให้บริการผู้ป่วย ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ยังมีความสุขกับผลงานผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยพอใจมากขึ้นกับบริการของโรงพยาบาลบางบ่อ”

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ศูนย์โตโยต้าฯ ได้ต่อยอดขยายโครงการดังกล่าว ด้วยการเริ่มต้นความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เริ่มศึกษาระบบและขั้นตอนการทำงาน เพื่อพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image