“คอลลิเออร์ส” เผย รร.ลัคชัวรี่ปรับตัวนำห้องพักปล่อยเช่ารายเดือน แถมลดค่าห้องลงกว่า 50%

“คอลลิเออร์ส” เผย รร.ลัคชัวรี่ในกทม.ปรับตัวนำห้องพักปล่อยเช่ารายเดือน แถมลดค่าห้องลงกว่า 50%

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยถึงภาพรวมอุปทานโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 12,943 ห้อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5% จากในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งผู้ประกอบการบางรายยังคงเดินหน้าเปิดตัวโรงแรมใหม่ตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาพบว่ามีโครงการโรงแรมระดับลัคชัวรี่เปิดบริการใหม่ 3 แห่ง จำนวน 674 ห้องพัก คือ โรงแรมสินธร เคมปินสกี แบงค็อก – กรุงเทพ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯติดกับสวนลุมพินี ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 274 ห้อง โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 299 ห้องพัก และโรงแรม คาเพลลา กรุงเทพ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 101 ห้อง

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับอัตราการเข้าพักของสถานพักแรมในประเทศไทย ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 อยู่ที่ประมาณ 34.82% ซึ่งพบว่าปรับตัวลดลงกว่า 35% จากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร ณ ครึ่งหลังของปีพ.ศ.2563 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 28% ปรับตัวลดลงประมาณ 7% จากอัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี จากสถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศไทยก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พบว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมของปีนี้อยู่ที่ 77.97% จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดหนักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 58.39% และปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 20.82% ในเดือนมีนาคม ก่อนปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.26% หลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้า และยังต้องใช้เวลารอให้สถานการณ์แพร่ระบาดในไทยดีขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ทำให้อัตราเข้าพักในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 3.83% ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 13.48% หลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์การเดินทางในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา หัวหิน และชะอำ เป็นต้น
คาดการณ์ว่าทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในปีพ.ศ. 2564 อาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยใช้สมมติฐานว่าประเทศต่างๆ จะกลับมาเปิดประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง และเรียกความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนให้กลับคืนมาได้หลังจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาและเริ่มมีการทดลองใช้ในหลายประเทศ สอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งปีพ.ศ. 2564 ที่ประมาณ 11 ล้านคน บวกกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐผ่านโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2 ที่สามารถจองสิทธิ์ห้องพักอีก 1 ล้านสิทธิ์ใหม่ และการประกาศเพิ่มวันหยุดพิเศษสำหรับในปี พ.ศ. 2564 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง”

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมอุปทานโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นครึ่งหลังปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 12,943 ห้อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5% จากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาพบว่า มีโครงการโรงแรมระดับลัคชัวรี่เปิดบริการใหม่ 3 แห่ง จำนวน 674 ห้องพัก คือ โรงแรมสินธร เคมปินสกี แบงค็อก – กรุงเทพ พัฒนาโดย บริษัท สยามสินธร จำกัด ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ติดกับสวนลุมพินีที่ถือเป็นหนึ่งในสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 274 ห้อง โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 299 ห้องพัก และโรงแรม คาเพลลา กรุงเทพ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 101 ห้อง ซึ่งล่าสุด บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) ได้อนุมัติขาย 2 บริษัทในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ และประกอบธุรกิจโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพ ณ แม่น้ำเจ้าพระยา ให้กับ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จํากัด (มหาชน) ซึ่งโรงแรมทั้ง 3 แห่งได้มีการเปิดให้จองพักล่วงหน้าตั่งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก่อนการระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ขณะนี้นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้โดยปกติ โดยโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร หรือมีการปรับตัว เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน เป็นต้น นอกจากนี่พบว่า มีโรงแรมระดับระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานครที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในปีพ.ศ. 2564 อีกประมาณ 4 แห่ง ประมาณ 726 ห้องพักและในปีพ.ศ. 2565 อีกประมาณ 600 ห้องพัก และพบว่ามีโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 2 โครงการ 423 ห้องพัก มีการเลื่อนการเปิดตัวออกไปจากในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา และอาจมีการปรับแผนการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในอนาคตหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19ทั่วโลกและการระบาดของไวรัสดังกล่าวครั้งใหม่ในประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

นายภัทรชัยกล่าวว่า คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ. 2564 ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลซึ่งมีดีมานด์ต้องการเดินทางเข้าไทยพอสมควร โดยจากผลสำรวจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลอนดอนระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 จุดหมายปลายทางที่ชาวอังกฤษต้องการเดินทางมาเยือนในช่วงฤดูร้อนกลางปีพ.ศ. 2564 และจากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหายจากการวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการเข้าใช้ห้องพักโรงแรมในประเทศไทยปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้งในส่วนของห้องพักและรายได้จากการให้บริการสถานที่สำหรับงานเลี้ยงและงานประชุมต่างๆ เนื่องจากวิกฤตการณ์โรคระบาดดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการเลื่อนการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยส่งผลให้ยอดจองห้องพักรวมถึงรายได้จากค่าห้องพักในปพ.ศ. 2563 หายไปมากกว่า 50% โดยผลกระทบดังกล่าวส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อธุรกิจโรงแรมทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูงในขณะที่ยอดจองห้องพักแทบจะเป็นศูนย์ในช่วงของการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้โรงแรมจำนวนมากต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร หรือมีการปรับตัว เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image