‘คิวทีซี’ เปิดเกมรุกรับปีฉลู พร้อมเจาะตลาดเต็มสูบ ดันรายได้แตะ 1.2 พันล้านบาท

‘คิวทีซี’ เปิดเกมรุกรับปีฉลู พร้อมเจาะตลาดเต็มสูบ ดันรายได้แตะ 1.2 พันล้านบาท

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตจัดจำหน่ายและให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ มีแผนการดำเนินธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์เชิงรุกในการเจาะตลาดทั้งในธุรกิจการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า การให้บริการ และธุรกิจเทรดดิ้ง จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ ให้กับลองกิ โซลาร์ (LONGi Solar) ผู้ผลิตโซล่า ร์เซลล์แสงอาทิตย์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ รวมไปถึงการจำหน่าย DE BUSDUCT ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวมแตะระดับ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 900 ล้านบาท และธุรกิจเทรดดิ้ง 300 ล้านบาท

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นดำเนินงานซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับกลยุทธ์ช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแล้ว ทำให้ล่าสุดบริษัทฯ มียอดขายต่อเนื่องจากปีก่อนจนถึงปัจจุบันกว่า 320 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าต่างประเทศ จำนวน 200 ล้านบาท ยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 90 ล้านบาท และจากการเทรดดิ้ง โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ให้กับลองกิ โซลาร์ จำนวน 30 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ กับพันธมิตรอีก 2 ราย คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ซึ่งจุดเด่นของแผงโซลาร์เซลล์ ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย ให้กับลองกิ โซลาร์นั้น คือเป็นแผงโซลาร์ฯ Tier 1 ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดด้วยโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Half-Cut Technology ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 98% และยังสามารถสร้างพลังงานได้แม้ในภาวะแสงน้อย รวมถึงสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมาได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 ปี และในปี 2564 นี้ จะเปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 540 วัตต์เพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทยต่อไป จากปัจจุบันมีขนาดสูงสุด 450 วัตต์

“ต้องยอมรับว่าลองกิ โซลาร์ เป็นผู้ประกอบการรายแรกและใหญ่ที่สุดที่มีการพัฒนานวัตกรรมขนาดแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานของแผงโซลาร์ฯ ได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จากพื้นที่การติดตั้งเท่าเดิม ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว โดยในปีนี้ถือเป็นปีแห่งการทดสอบความแข็งแกร่งทางธุรกิจอีกปีหนึ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากรอบแรก จนถึงรอบใหม่ที่กระจายเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับผลกระทบในเชิงการขนส่งสินค้าอยู่บ้าง แต่ในส่วนของยอดขายยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ต้นปีถึง 200 ล้านบาท เพราะมีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบอัตโนมัติ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจเช็คคุณภาพการทำงานของหม้อแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงบริษัทฯ ยังมีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท และคาดว่าจะได้งานไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่างาน ซึ่งคาดว่าจะทยอยประกาศผลออกมาในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้” นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image