สทนช. เร่งแก้ท่วมแล้งซ้ำซากลุ่มน้ำมูล พร้อมสรุปผลเอสซีเอ คาดแล้วเสร็จตามแผน ก.พ.นี้

สทนช. เร่งแก้ท่วมแล้งซ้ำซากลุ่มน้ำมูล พร้อมสรุปผลเอสซีเอ คาดแล้วเสร็จตามแผน ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงแนวทางการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำมูล ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำมูลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ และมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ ขณะที่ความต้องการน้ำในภาพรวมมีมากกว่า 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ลุ่มน้ำมูลสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 5,350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)​ จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ)​ ซึ่ง สทนช.ได้นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของถึงแวดล้อมทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุด

นายสมเกียรติกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้การศึกษาเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุ แนวทางการแก้ไข และทางเลือกของแผนงาน โดยมีการประชุมแบบเวทีย่อย การสำรวจเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองด้วย

Advertisement

นายสมเกียรติ​กล่าวว่า สำหรับขอบเขตพื้นที่การศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 1,282 ตำบล 151 อำเภอใน 10 จังหวัดภาคอีสาน โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้เสนอทางเลือก เช่น การพัฒนาพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั่วคราวการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำการเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าด้วยกันการเก็บกักน้ำส่วนเกินในฤดูฝน เพื่อใช้ในฤดูแล้งแนวทางการพัฒนาหาน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำที่มีน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ และการจัดทำโครงสร้างใต้ดินเพื่อจะเก็บน้ำส่วนเกิน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษาเอสอีเอ ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลย์และยังยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image