อดีตและปัจจุบัน ของ ‘วันหยุด’

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะไม่นำวาระการเสนอให้วันที่ 26-27 กันยายน เป็นวันหยุดพิเศษ เข้าที่ประชุมพิจารณา ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอให้มีวันหยุดยาว 4 วัน ต่อจากวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 24-25 กันยายน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทย หลัง ททท.เห็นว่าเหตุความไม่สงบพื้นที่ภาคใต้ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อบรรยากาศท่องเที่ยวที่ซบเซาลงไป

ซึ่งนางกอบกาญจน์ระบุว่า ยังมีหลายมาตรการที่สามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ หากเสนอไปอาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบางประเภทได้

จากกระแสข่าวดังกล่าวมีหลากหลายมุมมองแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่บ้างก็เห็นว่ายังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ และไม่กระทบต่อภาคเอกชนในหลากหลายส่วน จากข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นว่าช่วงเทศกาลหยุดยาวต่างๆ ที่ผ่านมานั้นส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเข้าพักเฉลี่ย จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2559 หยุดยาว 4 วัน น้อยกว่าปี 2558 หยุดยาว 5 วัน ซึ่งอัตราการเข้าพักในเฉลี่ยช่วงเทศกาลอยู่ที่ 78.38% ลดลง 1.99% จากปี 2558 ที่อยู่ระดับ 80.37% จากจำนวนคนไทยเที่ยวไทย 2,302,725 คน ลดลง 7.69% จากจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยปี 2558 ที่มี 2,494,573 คน ซึ่งมีวันหยุดยาวมากกว่า ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวจากตลาดคนไทยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 อยู่ที่ 7,041 ล้านบาท ลดลง 11.02% จากปี 2558 ที่มีรายได้ 7,914 ล้านบาท แต่ด้วยกระแสการท่องเที่ยวไทยบูมมากขึ้น ทำให้ตลอดเดือนมกราคมมีรายได้ 50,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.94% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 มีรายได้ 44,319 ล้านบาท

Advertisement

ขณะที่วันจักรีและเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน ททท.ไม่มีเปรียบเทียบสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลดังกล่าว เพราะปี 2558 วันจักรีไม่ตรงกับวันหยุดยาว แต่นายยุทธศักดิ์เคยคาดการณ์ไว้ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน จะมีรายได้ทางการท่องเที่ยวสะพัดกว่า 15,160 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน ในจำนวนนี้ เป็นรายได้จากตลาดคนไทยเที่ยวไทย 6,980 ล้านบาท เติบโต 3.5% ทำให้ตลอดเดือนเมษายน มีรายได้จากตลาดคนไทยเกิดขึ้นกว่า 45,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.01% จากเดือนเดียวกันของปี 2558 ที่มีรายได้ 42,551 ล้านบาท ถึงแม้เดือนเมษายนจะเติบโตไม่มาก นั่นเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่าย รวมถึงวิกฤตภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงวันฉัตรมงคล-วันพืชมงคล และเป็นเทศกาลที่มีวันเพิ่มเติม ตามมติ ครม.ให้มีวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม

ซึ่งนายยุทธศักดิ์คาดการณ์ว่า เทศกาลนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 2,160,000 คนต่อครั้ง มีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 7,600 ล้านบาท แม้จะเพิ่งผ่านการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์มาก็ตาม เนื่องจากหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คึกคักต่อเนื่อง

Advertisement

เทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา มติ ครม.อนุมัติให้มีวันหยุดเพิ่มเติม เพื่อให้มีจำนวนวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวนั้น พบว่าส่งผลดีต่ออัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 68.76% เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2558 ที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65.38% มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกว่า 2,513,771 คน เพิ่มขึ้น 18.51% จากปี 2558 มีจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลนี้ 2,121,159 คน ส่งผลให้เกิดเงินสะพัดภายในประเทศ 8,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 23.49% จากเทศกาลเดียวกันของปี 2558 ที่มีเงินสะพัด 6,589 ล้านบาท

เทศกาลวันแม่ มีวันหยุดต่อเนื่อง 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม ซึ่งนางกอบกาญจน์คาดว่ามีการเดินทางท่องเที่ยวไทย 8 แสนคน มีการกระจายรายได้จากไทยเที่ยวไทย 3,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปี ยังมีวันหยุดยาวช่วงวันปิยมหาราช ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม ช่วงวันรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม และวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 30-31 ธันวาคม 2559-2 มกราคม 2560 ต้องลุ้นว่าการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว จะช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน

นี่คือแนวคิดที่รัฐบาลใช้วันหยุดเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา

แต่หากเปรียบเทียบวันหยุดในอดีตกับปัจจุบัน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชนและนักวิชาการประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า หมายถึงวันไม่ทำงานที่ต้องทำประจำ เป็นประเพณีของฝรั่ง น่าจะเริ่มเป็นที่รู้จักในสยามราวสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อชาวยุโรปในบางกอกขอมีถนนไว้ขี่ม้าออกกำลังวันหยุดประจำสัปดาห์ อันเป็นที่มาของการตัดถนนเจริญกรุง หรือ New Road หลังจากนั้นจึงมีประเพณีวันหยุดตามตะวันตก

พร้อมชี้ให้เห็นว่าคนพื้นเมืองไม่ว่าจะในสยามหรือชาติพันธุ์อะไรในแถบอุษาคเนย์ไม่มีประเพณีวันหยุดแบบตะวันตก

ด้านศาสนา สุจิตต์ขยายความว่า พุทธศาสนามีวันพระเข้าพรรษา ออกพรรษา ทอดกฐิน เทศน์มหาชาติ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่วันหยุดตามแบบตะวันตก แต่เป็นวันทำบุญเลี้ยงพระเฉพาะตอนเช้าที่วัด พอสายๆ กลับบ้านแล้วไปทำงานตามปกติ

“หรือวันลอยกระทงเดือน 12 ส่งท้ายฤดูกาลเก่าเข้าฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย (เดือน 1) ไม่ใช่วันหยุดตามแบบฝรั่ง แต่เป็นพิธีเลี้ยงผี ขอขมาเจ้าแม่แห่งน้ำและดินหรือขอขมาธรรมชาติ ทำตอนไหนก็ได้เมื่อเสร็จงานประจำวัน ซึ่งส่วนมากจะมีกลางคืนกัน”

ไม่เว้นแม้แต่เทศกาลหยุดยาวประจำปีที่หลายคนล็อกเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปีอย่างเทศกาลสงกรานต์ สุจิตต์ก็อธิบายว่าเป็นการเลี้ยงผีบรรพชนหน้าแล้ง เดือน 5 (มีนาคม-เมษายน) และแน่นอน-ไม่ใช่วันหยุดแบบตะวันตกเช่นกัน แต่เป็นพิธีเลี้ยงผี มีการละเล่นตอนกลางคืนหลังเสร็จงานประจำวัน แล้วเล่นต่อเนื่องหลายวัน บางชุมชนอาจเล่นยาวนานทั้งเดือนจนกว่าฝนจะตกหลังเดือน 6 จึงจะเริ่มไถนาและฤดูกาลผลิตใหม่

สุจิตต์บอกอีกว่า วันหยุดในไทยปฏิบัติตามฝรั่ง (แต่เรียกสากล) มหาอำนาจทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น

“แต่ทางการกำหนดหยุดอย่างเอาเปรียบสังคม นอกจากหยุดประจำสัปดาห์และวันนักขัตฤกษ์ วันสำคัญซึ่งมากอยู่แล้ว ยังมีหยุดชดเชยเพิ่มอีก”

“สมกับที่เป็นประเทศทันสมัยแต่ไม่เป็นสมัยใหม่ จัดอยู่ในลักษณะล้าหลังทั้งทางเทคโนโลยีและทางวัฒนธรรม” สุจิตต์กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อเปรียบเทียบวันหยุดอดีตกับวันหยุดในปัจจุบันของไทยแล้ว ดูเหมือนเป้าหมายการหยุดจะแตกต่างกัน ซึ่งในอดีตคนไทยจะหยุดกันเพียงเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม

แต่วันหยุดในปัจจุบันกำลังกลายเป็นเครื่องมือของรัฐหวังกระตุ้นให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู

ดังนั้น การตีความวันหยุดของคนไทยในอดีตกับปัจจุบันจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาจเป็นเพราะเวลาเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลเข้ามาแบบทะลักก็พลอยให้วัฒนธรรมการหยุดของคนไทยเปลี่ยนไปด้วย !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image