14 ว่าที่กสทช.ระทึก ลุ้นวุฒิฯ ชี้ชะตา

14 ว่าที่กสทช.ระทึก ลุ้นวุฒิฯ ชี้ชะตา

เซียนในแวดวงโทรคมนาคม หักปากกาทิ้งกันเป็นแถบ เมื่อมีการประกาศ 14 รายชื่อ ผู้สมัครบอร์ด กสทช. ที่เข้ารอบสุดท้าย ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติรับรอง 7 คน
เพื่อเป็น 7 อรหันต์ ขับเคลื่อนงานโทรคมนาคม อันเป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างบนระบบ 5G ที่ประมูลไปเมื่อเดือน ก.พ.2563 แล้วหยุดชะงักไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาบอร์ดชุดใหม่

ผู้สมัครเป็นบอร์ด หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ใน 7 ด้าน มีจำนวน 80 คน เข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ต่อกรรมการสรรหา ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนประกาศผลในตอนค่ำวันที่ 21 ม.ค.

รายชื่อที่ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ 14 คน ไร้ชื่อตัวเต็ง อย่าง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.,พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค, พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) รวมถึง นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นต้น

แต่กลับได้ “ม้ามืด” ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แก่ นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้ ที่ปรึกษามูลนิธิคนพิการไทย
และ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ

Advertisement

ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ นายอธิคม ฤกษบุตร อาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท

ขณะที่ ด้านวิศวกรรม ได้แก่ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ นายอานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (ประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง) ด้านกฎหมาย ได้แก่ นายจิตรนรา นวรัตน์ อดีตผู้ตรวจการอัยการ และ ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ผู้ชำนาญการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

Advertisement

ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และนายอารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.แสดงสปิริต ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า ขอบคุณอย่างยิ่งที่พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ และสื่อมวลชนทุกๆ คน ส่งกำลังใจให้ และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการสรรหาทุกๆ คนด้วยความจริงใจ

ขณะที่ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหาร และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) แสดงความคิดเห็นว่า ถือว่ากรรมการสรรหากรรมการ กสทช.ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนแล้ว ส่วนโผรายชื่อที่ออกมาเป็นอย่างไร ต้องมีเหตุผล และต้องยอมรับ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า จากรายชื่อผู้สมัครกรรมการ กสทช. ทั้ง 80 คน แต่ละท่านมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน

หลังจากนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการของวุฒิสภา เป็นผู้คัดเลือกให้เหลือ 7 คน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
แนวทางที่ควรจะเป็น และคาดหวังต่อไปคือ วุฒิสภาจะคัดเลือก 14 ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ที่ผ่านหลักเกณฑ์การแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ ตามรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอ

แต่ในอดีตบนบรรทัดฐานของ พ.ร.บ.เดิมนี้ เกิดกรณีที่วุฒิสภาไม่เลือก อีกทั้งไม่มีการทบทวน เพื่อให้ผู้สมัครกรรมการ กสทช. อันดับที่ 3 ขึ้นมาแทน เพราะใน พ.ร.บ.ฉบับเดิมนี้กำหนดกติกาไว้

ต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่ …) พ.ศ… ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาซึ่งมีขั้นตอนที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น มีการเสนอให้ทำรายการตามลำดับคะแนน เพื่อให้สามารถชี้แจงได้ หรือเพื่อพิจารณาผู้สมัครกรรมการ กสทช. มากกว่า 2 คน ไม่ใช่เลือกแค่ 1 ใน 2 เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ได้ชี้เป้า เพียงเสนอแนะว่าสามารถเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

“วุฒิสภาอาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบอกได้ยากเพราะมี 250 คน จึงหวังว่าจะเปิดประชุมวุฒิสภาโดยเร็ว เพราะแม้มีหลายภารกิจหรือวาระสำคัญรอพิจารณา แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานแม้แต่รัฐบาลเองก็พูดตลอดว่า การสรรหา กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ” นายสืบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า หากกระบวนการสรรหา กรรมการ กสทช. ล่าช้า จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแน่นอน

เพราะสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ประกอบกับปัจจุบันมีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องผ่านการตัดสินใจของ กรรมการ กสทช. เช่น การขยายโครงข่าย การพิจารณาจัดการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ และการจัดการประมูลวงโคจรดาวเทียม เป็นต้น

“การเร่งพัฒนา 5G ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เป็นเหตุผลหลักที่พยายามผลักดันการสรรหากรรมการ กสทช. ภายใต้ พ.ร.บ.เดิม โดยกรรมการ กสทช. จำเป็นต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เข้มแข็ง เชิงรุก ซึ่งต่างจากชุดรักษาการในปัจจุบัน ที่มีหลายเรื่องที่ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับอนาคต ดังนั้น กระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. ล่าช้าเท่าไร ยิ่งทำให้หลายเรื่องที่ควรต้องพิจารณาล่าช้าไปกันใหญ่” นายพุทธิพงษ์กล่าว

จากนี้ต้องจับตาว่า วุฒิสภาจะรับไม้ คัดเลือกผู้สมัครกรรมการ กสทช. ให้เหลือ 7 คน อย่างไร หรือไม่ และสุดท้าย หน้าตากรรมการ กสทช.จะเป็นอย่างไร

ตามไทม์ไลน์ที่ระบุว่า จะแล้วเสร็จในกุมภาพันธ์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image