“สทท.” โอด โควิดระลอกใหม่ทุบท่องเที่ยวหนัก หวั่นตกงานพุ่ง 2 ล้านคน แนะตั้งธนาคารอุ้มแรงงาน

“สทท.” โอด โควิดระลอกใหม่ทุบท่องเที่ยวหนัก หวั่นตกงานพุ่ง 2 ล้านคน แนะตั้งธนาคารอุ้มแรงงาน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวสูงมาก โดยประเมินว่าอาจทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่ามีรวมประมาณ 4 ล้านคน แต่เป็นเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น ซึ่งจำนวนแรงงานจริงเชื่อว่ามีมากกว่านี้ จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลจริงของแรงงานทั้งหมดในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ขณะนี้มีแรงงานทั้งหมดจำนวนเท่าใด แบ่งเป็นยังมีงานทำอยู่เท่าใด และตกงานเท่าใด เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร โดยเรื่องนี้สทท.พร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้น ขอเพียงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่านั้น โดยในวันที่ 26 มกราคม 2564 จะมีการหารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่มเติม เพราะมองว่าการจัดตั้งธนาคารดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรออกมาก่อนเดือนมีนาคมนี้

นายชำนาญ กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงาน สามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงานได้ ซึ่งผู้ประกอบการก็สามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการได้ โดยแรงงานที่ยังเหลืออยู่ จะได้รับการแนะนำเพื่อไปพัฒนาทักษะอัพสกิลหรือรีสกิลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ โดยข้อเสนอที่จะหารือร่วมกับรมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่สำคัญเป็นการช่วยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) บวกกับการช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง (โคเพย์) ระหว่างรัฐและเอกชน ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน โดยเชื่อว่าหากสามารถจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้นได้ จะสามารถนำรายละเอียดข้อมูลจริงของแรงงานเหล่านั้น มาเสริมเพื่อให้รัฐบาลเห็นภาพการช่วยเหลือที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังมีแนวคิดที่จะให้แรงงานที่ได้รับความเดือนเข้ามาลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งจะสามารถดูได้จากฐานข้อมูลในระบบ (ดาต้าเบส) ว่าความคืบหน้าในการช่วยเหลือเป็นอย่างไรบ้าง

“แนวคิดโคเพย์ต้องออกมาช่วยเหลือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจริงๆ เพราะเอกชนไม่ได้ขอให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนให้ทั้งหมด แต่เป็นการจ่ายร่วมกันคนละครึ่ง ซึ่งหมายความว่าเอกชนมองแล้ว เชื่อว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาได้อย่างแน่นอน แต่โคเพย์จะต้องออกมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจน อาทิ รัฐบาลมีงบให้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้กับโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวใดบ้าง และจะออกมาช่วงใด ใช้เงินเท่าใดจนกว่าจะหมดตามแผนที่วางไว้ โดยขณะนี้สถานการณ์ยิ่งปล่อยไว้นานไป ก็จะยิ่งแย่ลง หากรัฐไม่มีอะไรออกมาช่วยเหลือ ซึ่งหากตอนนี้ไม่ช่วย เมื่อสถานการณ์แย่ลงมากกว่านี้ ก็ต้องหาทางช่วยเหลืออยู่ดี ซึ่งถึงตอนนั้นอาจต้องช่วยในระดับที่มากขึ้นอีก” นายชำนาญ กล่าว

นายชำนาญ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ระดับ 62 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2563 ที่อยู่ในระดับ 60 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ และโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/2564 อยู่ในระดับ 53 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าระดับปกติมาก และคาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 4 ค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 4 และคาดว่าจะใช้เวลาในการควบคุมการระบาดโควิด-19 ประมาณ 1-2 เดือน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image