‘ศักดิ์สยาม’ ขีดเส้นตาย 7 วัน จี้ รฟท.หาข้อสรุปสายสีแดง ตั้งเป้าปิดหัวลำโพง พ.ย.นี้

ศักดิ์สยาม ขีดเส้นตาย 7 วัน จี้ รฟท.หาข้อสรุปสายสีแดง ตั้งเป้าปิดหัวลำโพง พ.ย.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​คมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจงานและเยี่ยมชม โครงการ​ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)​ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ว่า ครั้งนี้ได้มอบนโยบายเรื่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะต้องการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีรายได้เพียงพอที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริการสถานี ซึ่งจากข้อมูลเดิมที่มีการศึกษา​ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 1.4 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นค่าบริหารสถานีและค่าบำรุงรักษา โดยที่ผ่านมาจากผลการศึกษาโครงการดังกล่าวฯ ของ รฟท. ก่อนที่จะเปิดให้มีการร่วมลงทุนระหว่างภาค​รัฐ​และ​เอกชน​ (พีพีพี) พบว่า รฟท. จะมีรายได้อยู่ที่ 267 ล้านบาทต่อปี เบื้องต้นได้สั่งการให้ รฟท. ทบทวนผลการศึกษาใหม่ โดยตั้งเป้าให้ รฟท.มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทต่อปี

“เบื้องต้นได้สั่งการให้ รฟท. และกรมขนส่งทางราง (ขร.)​ หารือถึงแนวทางการบริหารรายได้ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวมถึงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมรายจ่าย โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผลการศึกษาเดิมของ รฟท. ที่จะทำให้องค์กรขาดทุน และไม่ควรคาดหวังให้กระทรวงคมนาคมขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (พีเอสโอ) เพราะมองว่ารัฐวิสาหกิจควรมีกำไร อย่างไรก็ตาม รฟท.จะต้องเสนอแนวทางดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมให้รับทราบภายใน 7 วัน” นายศักดิ์สยามกล่าว

นอกจากนี้ ต้องจัดพื้นที่ให้กับประชาชนนำสินค้าโอท็อปเข้ามาจำหน่าย โดยศึกษาข้อมูลจากงานจัดแสดงสินค้าโอท็อปที่เมืองทองธานี และนำมาปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ในสถานีกลางบางซื่อ โดยจะต้องหารือร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน และกระทรวงมหาดไทย ว่าสินค้าใดที่เหมาะสมจะนำมาจำหน่ายที่สถานีกลางบางซื่อ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้

Advertisement

นายศักดิ์​สยาม​กล่าวว่า ส่วนประเด็นการปิดสถานีหัวลำโพงนั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้ รฟท.ไปศึกษาหาแนวทางการปิดให้บริการสถานีรถไฟฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยหลังจากเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในเดือนพฤศจิ​กายน 2564 ไม่ควรนำขบวนรถไฟเข้าไปให้บริการภายในสถานีหัวลำโพงแล้ว หากมีความจำเป็นให้ รฟท. ปรับเวลาการเดินรถ เป็นหลัง 22.00-04.00 น. ส่วนพื้นที่บริเวณ​หัวลำโพง ได้สั่งการให้ รฟท.หาแนวทางในการพัฒนา​พื้นที่เป็นศูนย์กลาง​การพัฒนา​พื้นที่ของ รฟท. เพื่อให้มีรายได้หล่อเลี้ยงองค์กร​ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์​ในการประกอบอาชีพ บริเวณ​พื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image