เปิด 5 มาตรการธุรกิจเรียกร้องรัฐเยียวยาเพิ่ม

เปิด 5 มาตรการธุรกิจเรียกร้องรัฐเยียวยาเพิ่ม ทั้งลดดอกกู้ พักหนี้ ลดหย่อนภาษี ตั้งกองทุนช่วยเหลือ พอใจมาตรการรัฐแานกลาง ย้ำไม่พร้อมปิดกิจการ 14 วัน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจเอฟทีไอ โพล ว่า เป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 แห่งต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ 73.8% การลดหย่อนทางภาษี เลื่อนการชำระภาษี 70.6% จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ 65.6% การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี เท่ากันที่ 64.4% และการปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน 57.5%

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ด้านผลการสำรวจความพึงพอใจ ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ระลอกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาตรการเราชนะ การขยายสิทธิโครงการคนละครึ่ง การลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา การขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็น 58.1% โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. 46.3% ยังเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมองว่ารัฐบาลจะกำกับดูแลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2 – 4 เดือน แต่ยังกังวัลการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการ อาทิ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด การเดินทางของพนักงาน ลูกจ้าง การใช้แรงงานต่างด้าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ด้านความพร้อมการรับมือกรณีปิดกิจการ 14 วัน การดูแลพนักงานที่ติดโควิด พบว่า ส่วนใหญ่ 45.6% ไม่สามารถปิดกิจการ 14 วันได้ ต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด รองลงมา 35 % มีความพร้อมปิดกิจการ 14 วัน แต่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด มีเพียง 19.4% ที่มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน และสามารถดูแลพนักงานที่ติดโควิดได้

นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจการนั้น ได้แก่ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด 60.6% รองลงมาการเดินทางของพนักงาน ลูกจ้าง 59.4% และการใช้แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม 58.8% ทั้งนี้ หากดูจากผลกระทบด้านต้นทุนในการประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ 33.1% มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 10 – 20% ของต้นทุนการประกอบการในช่วงปกติ

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image