กรมบัญชีกลาง แจงไม่มีอำนาจเรียกเงินคืน ชี้ไม่ได้หาคนผิด แต่หาทางเยียวยาผู้เสียหาย

บัญชีกลาง แจง ไม่มีอำนาจเรียกเงินคืน ชี้ไม่ได้หาคนผิด แต่หาทางเยียวยาผู้เสียหาย

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดี ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2563 ได้มีระบบเชื่อมโยงข้อมูล เรียกว่าระบบบูรณการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นระบบที่ร่วมมือกันระหว่างกรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่จะนำข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มาตรวจสอบว่าเป็นผู้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ หรือว่าคนพิการ กับฐานข้อมูลว่าเป็นผู้รับบำนาญ หรือบำนาญพิเศษหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ไปจะสามารถตรวจสอบได้ว่ารับเงินซับซ้อนหรือไม่

นางนิโลบลกล่าวว่า เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น เป็นตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจ่ายตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 ในปี 2561

นางนิโลบลกล่าวว่า ส่วนนี้ได้กำหนดไว้ชัดว่าผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัดพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

Advertisement

นางนิโลบลกล่าวต่อว่า ในระบบที่ได้รวมฐานข้อมูลเข้าด้วยกันนั้น จะตรวจจากเลขประจำตัวประชาชน และเมื่อทาง อปท.ส่งข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนมาให้ ทางกรมฯก็จะไปตรวจสอบดู และทางกรมฯก็แจ้งข้อมูลกลับไป ส่วนที่ว่ารับเงินไปไม่ถูกต้องหรือซ้ำซ้อนตั้งแต่เมื่อไหร่ และจำนวนเงินเท่าใดนั้น เป็นส่วนที่ อปท.ต้องทราบ เพราะเป็นการจ่ายจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

นางนิโลบลกล่าวว่า กรณีของคุณยายบวน ที่จังหวัดบุรีรัมย์ การจ่ายเงินเมื่อปี 2544 ยังไม่มีการจ่ายเงินบำนาญโดยตรง จึงเป็นการจ่ายผ่านหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของลูกชายคุณยายบวน ข้อมูลจึงยังไม่ได้อยู่ที่กรมบัญชีกลาง แต่อยู่ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และเมื่อ 10 ปีที่แล้วใครเป็นผู้ดูแลเรื่องก็อาจทราบได้ เพราะมีการปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องเจ้าหน้าที่และระเบียบ

“เข้าใจว่าไม่ได้มีเจตนา และไม่ได้ทุจริต เพียงแต่เป็นการผิดพลาด ดังนั้น เรื่องนี้เราจึงไม่ได้มาหาคนผิด แต่เราหาวิธีเยียวยามากกว่า”

Advertisement

อ่านข่าว : อบต.ย้ำ ซักแล้ว ‘ยายวัย 89’ ยันไม่ได้เงินสวัสดิการอื่น ก่อนพบ ได้จากลูกชายเดือนละ 5พัน

นางนิโลบลกล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยา ในกรณีเรียกเงินคืนเช่นนี้ คือการยกเว้นดอกเบี้ย และผ่อนชำระ ของผู้ที่รับเงินไป โดยดูความสามารถที่ผู้รับเงินสามารถทำได้ เพราะอย่างไรเงินที่รับไปนั้น ผู้รับไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงิน

“ทางกรมบัญชีกลางไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเงินคืน แต่ทางกรมฯได้มอบหมายให้ทางคลังของจังหวัดลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ พูดคุยและทำความเข้าใจ อาทิ กรณีคุณยายบวนก็จะชี้แจงว่าคุณยายยังได้รับสิทธิบำนาญเดือนละ 10,000 บาท และให้ความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” นางนิโลบลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image