“สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร” แนะรบ. ลดค่าโอน-จดทะเบียนบ้านใหม่-มือสอง-สร้างเอง
เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษี 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 ออกไปอีก 3 เดือน 2.การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 64 ลง 90% และให้จัดเก็บจริงเพียง 10% ครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท และ 3.ขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01% เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาฯ นั้น ว่า
เบื้องต้นประเมินช่วยเหลือด้านภาษีที่ดินถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วยได้ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพราะทุกคนตอนนี้ก็ถือว่าเดือดร้อนหมด ทำให้การช่วยเหลือด้านภาษีที่ดินออกมาถือว่าตรงจุด
สำหรับการช่วยลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01% แต่กำหนดเพดานให้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มองว่าขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของภาครัฐว่าจะประเมินอย่างไร โดยในปี 2563 หากเป็นเงื่อนไขในการช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ในภาระที่ลดน้อยลง ส่วนนี้ถือว่ามาถูกทาง
แต่เนื่องจากการยื่นเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือนั้น สมาคมฯ ได้นำเสนอให้ช่วยลดค่าธรรมเนียมให้ในทุกระดับราคา รวมถึงไม่จำกัดประเภทอสังหาฯ ด้วย ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และบ้านสร้างเอง เพราะทุกประเภทควรได้รับอานิสงส์เชิงบวกทั้งหมด เนื่องจากในภาวะที่เศรษญกิจไทยชะลอการเติบโตแบบนี้ การช่วยเหลือควรต้องออกมาช่วยเหลือกลุ่มคนทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางเท่านั้น และเพื่อให้อสังหาฯ เป็นส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในภาพรวม เพราะสัดส่วนตลาดบ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น มีขนาดใหญ่ไม่พอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ
“การไม่จำกัดราคาบ้านและประเภทบ้าน ก็เพื่อให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ สามารถขยับพร้อมกันได้ รวมถึงมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะขณะนี้อยากให้มองว่า คนในทุกระดับ ไม่ว่าจะต้องการซื้อบ้านในระดับราคาใดก็แล้วแต่ หากยังมีความต้องการ (ดีมานด์) ก็อยากให้สนับสนุนใช้เงินในการลงทุนส่วนนี้ เพื่อให้เกิดเงินสะพัดเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น เพราะหากกระตุ้นกลุ่มคนไม่มีเงินหรือมีความเสี่ยง ก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้น เพราะบ้านในระดับไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น ในปีที่ผ่านมาถูกดูดซับไปมากแล้ว และในปัจจุบันบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท มีไม่ถึง 50% ของตลาดรวม ทำให้การช่วยเหลือในตอนนี้ยังไม่พอ เพราะไม่ครอบคลุมทั้งหมดจริงๆ” นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวว่า การช่วยเหลือในทุกระดับราคา เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หรือหากรัฐบาลมองว่าการช่วยลดค่าธรรมเนียมให้ในทุกระดับราคายังไม่เหมาะสม ก็อาจกำหนดเป็นสัดส่วนราคาใหม่ อาทิ การช่วยลดค่าธรรมเนียมให้ในราคา 5 ล้านบาทแรก มูลค่า อาทิ ซื้อบ้านมีราคาประเมิน 7 ล้านบาท ก็ได้รับการช่วยเหลือในการลดให้ในช่วงราคา 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านบาทก็ให้คิดค่าธรรมเนียมในราคาปกติไป เพื่อให้มีผลกับทุกเซกเตอร์ในภาพรวม เพราะหากมาในรูปแบบนี้ อาจยังไม่ได้ส่งผลกระตุ้นได้มากนัก