จับตา “หลากธุรกิจ” ตบเท้าเข้าตลาดหลักทรัพย์

จับตา “หลากธุรกิจ” ตบเท้าเข้าตลาดฯ ตามโออาร์

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 สูงมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เนื่องจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การบริการ และอิงการเติบโตจากเศรษฐกิจมหภาพค่อนข้างสูง ทำให้เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจติดบ่วงปัจจัยกระทบที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น

จึงเห็นภาพดัชนีหุ้นเคลื่อนไหวผันผวนหนัก จากระดับ 1,579.84 จุด ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 1,000 จุด ซึ่งถือว่าปรับลดลงมากสุดในประวัติศาสตร์หุ้นไทย

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมายังเห็นความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ระดมทุน หรือการที่บริษัทจดทะเบียนไทยนำหุ้นเข้าไอพีโอ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.55 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และครองอันดับ 2 ในเอเชีย ซึ่งสูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

โดยมี บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น(CRC) เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีมูลค่าเสนอขายในกลุ่มค้าปลีกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้านสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2563 มีวันที่มูลค่าซื้อขายเกิน 1 แสนล้านบาท ถึง 22 วัน และวันที่ซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท โดยเฉลี่ยมีมูลค่าซื้อขายต่อวัน  67,334.80 ล้านบาท ด้านจำนวนบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 662,678 บัญชี จากสิ้นปี 2562 สรุปตัวเลขบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 3.43 ล้านบัญชี

Advertisement

ล่าสุดในปีนี้ มีหลายบริษัทจดทะเบียนทยอยตบเท้านำหุ้นเข้าไอพีโอ ซึ่งบริษัทที่ได้รับความสนใจและกระแสตอบรับถล่มทลาย คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนหุ้นไม่เกิน 3,000,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลังไอพีโอ ประกอบด้วย 1. จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 2,610,000,000 หุ้น

2. จัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน 390,000,000 หุ้น โดยกำหนดระยะเวลาเสนอขายหุ้นในวันที่ 24 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดรอง

Advertisement

ความฮอตทะลุปรอตของหุ้นโออาร์สะท้อนได้จากการที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของปตท. จองซื้อหุ้นโออาน์เต็มจำนวนจัดสรรที่ 153 ล้านหุ้น

โดยผลการเปิดจองในวันที่ 24 มกราคม ตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 09.00 น. หลังจากมีการเปิดให้จองซื้หุ้นโออาร์แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ทำให้ระบบไม่สามารถงานใช้ได้ชั่วคราว หลังประชาชนแห่ จองซื้อหุ้นพร้อมกัน

ประเด็นนี้ ข้อเท็จจริง ประชาชนที่สนใจหุ้นโออาร์ยังไม่ต้องรีบจองพร้อมกันในวันแรก เพราะสามารถจองได้ถึง เวลา 12:00 น ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รวมถึงระบบการจองหุ้นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ใครมาก่อนได้ก่อน (First come First serve)แต่ทุกคนที่จองในช่วงวันที่ 24 มกราคม 2564 ถึงเที่ยงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 จะได้รับสิทธิเท่ากัน เพราะจะใช้วิธี Small lot first คือจะจัดสรรให้ผู้จองซื้อเป็นรอบๆ ซึ่งรอบแรกผู้จองหุ้นทุกคนจะได้รับการจัดสรรเบื้องต้นรายละ 300 หุ้น และจะจัดสรรในรอบต่อไปครั้งละ 100 หุ้นจนกว่าจะหมด

นอกจากหุ้นโออาร์ “มติชนออนไลน์” ได้รวบรวมหลายบริษัทที่เตรียมเข้าไอพีโอทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดเอ็มเอไอ อาทิ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 140,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 11.85 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ

บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 152,641,540 หุ้น คิดเป็น 25.4% ของหุ้นทั้งหมดหลังไอพีโอแล้ว, บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 206,000,000 หุ้น คิดเป็น 27.07% ของหุ้นทั้งหมดหลังไอพีโอแล้ว

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ NTL โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น คิดเป็น 39.1% ของหุ้นทั้งหมดหลังไอพีโอแล้ว

หากรวมมูลค่าการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเบื้องต้นของบริษัทจดทะเบียนตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพยฯ มีมูลค่ากว่า 55,579,677,090 บาท หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 5.5 หมื่นล้านบาท

ในภาวะที่ตลาดหุ้นปรับระดับขึ้นมาอย่างร้อนแรงโดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณ 1,500 จุดขึ้นไปนั้น ถือว่าเป็นระดับที่มีราคาแพงมากแล้ว รวมถึงมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ค่อนข้างตึงตัว บวกกับมีหลายบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ออกมาคาดการณ์ระดับสูงสุดของหุ้นไทยในปี 2564 ก็เฉลี่ยอยู่ในระดับ 1,550 จุด บวกหรือลบไม่มากนัก

ทำให้หุ้นในขณะนี้น่าจะอยู่ในจุดอิ่มตัว แบบขึ้นได้ไม่ไกลและลงได้ไม่แรง หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบหนักๆ อีกครั้ง

นักลงทุนจึงต้องพิจารณาภาวะตลาดให้แน่ชัด ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้การลงทุนไม่เสียเปล่า หรือเกิดความเสี่ยงเกิดรับมือไหว!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image