เมื่อวันที่ 28 มกราคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า หลังคณะกรรมการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ชุดใหม่ พิจารณารายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว 14 คน โดยเตรียมเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเหลือ 7 คนนั้น เมื่อได้บอร์ด กสทช.ชุดใหม่มาแล้ว หน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องหนึ่ง คือการจัดระเบียบกิจการที่เข้าข่ายการประกอบกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (ดีไอเอฟ) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่มีการใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์จากเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์
ข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา กสทช. มีกฎหมายกำกับดูแลในเรื่องนี้ และมีความพยายามที่จะจัดระเบียบนำกองทุนเหล่านี้มาจดทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่าจะได้ข้อยุติ โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ประชุมกันเมื่อเดือนกันยายน 2563 และมีมติว่า การที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล มีการนำเสาโทรคมนาคมและใยแก้วออกไปให้ผู้ประกอบการหลายรายเช่าใช้ ถือเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สินโทรคมนาคมที่เข้าข่ายกิจการตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ที่ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. เช่นเดียวกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่มีการนำเส้นใยแก้วนำแสงที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคมออกให้บริการ
ข่าวแจ้งว่า จนถึงขณะนี้ กสทช.ยังไม่มีการเรียกผู้บริหารกองทุนรายใดเข้ามาดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามประกาศของ กสทช.เนื่องจากคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว มีข้อเสนอเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่เห็นว่า กสทช.สามารถลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ( ยูโซ่ ) เพื่อสนับสนุนให้กองทุนดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของประเทศ จากความเห็นดังกล่าวทำให้คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันไม่กล้าดำเนินการใดๆ เพราะหากคณะกรรมการ กสทช.เห็นชอบให้ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่นตามกฎหมาย ก็เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งรายใดโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่จะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาต่อไป