‘เฉลิมชัย’ สั่งด่วน ให้กรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำ ลดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ช่วยประชาชน

แฟ้มภาพ

‘เฉลิมชัย’ สั่งด่วนให้กรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำ ลดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ช่วยเกษตรกร และคนกรุง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากรายงานของกรมประทานแจ้งว่า จากการติดตามการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา  ช่วงเวลา 20.00 น. มีค่าความเค็มอยู่ที่ 2.50 กรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี และการเพาะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า จากสถานการ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ต้องได้รับผลกระทบจากค่าความเค็มที่เพิ่มขึ้นในน้ำดิบที่นำไปผลิตเป็นน้ำประปาของการประปานครหลวง ทำให้บางช่วงเวลาน้ำประปามีรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสั่งการให้กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็ม และช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนโดยเฉพาะใตเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนพระรามหกจากเดิมระบาย 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 25 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่วันนี้ (31 มกราคม) และจะทยอยปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. เพื่อประหยัดน้ำต้นทุน โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จาก 35 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 45 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมถึง 2 กุมภาพันธ์ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนบน

Advertisement

นายสัญญากล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม จึงขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจรดอ่าวไทย ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้

“พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุมการรับน้ำเพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายสัญญากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image