เร่งอุดรอยรั่ว-โกง เราเที่ยวด้วยกัน มันมากับโควิด!!

สกู๊ปน.1 : เร่งอุดรอยรั่ว-โกง เราเที่ยวด้วยกันž มันมากับโควิดž!!

ภาคการท่องเที่ยวไทยหลังจากถูกผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้การเดินทางต้องหยุดลงนั้น เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่การเดินทางยังไร้วี่แววกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ประกอบกับน่านฟ้ายังไม่เปิด นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยวไทยยังเข้ามาไม่ได้

ความหวังจึงตกอยู่ที่การท่องเที่ยวในประเทศที่จะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในให้หมุนเวียนต่อไป รัฐบาลจึงงัดมาตรการเด็ดในการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น

ทำให้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการกำลังใจ ถูกเคาะออกมาเพื่อเป็นแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้ตลาดไทยเที่ยวไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

โดยวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นวันแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ซึ่งการลงทะเบียนในขั้นตอนนี้จะไม่มีการปิดการลงทะเบียน ทำให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้เรื่อยๆ แต่สิทธิของโครงการจะเริ่มตัดจากการนับยอดจองโรงแรม และมีการจ่ายเงินการจองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเปิดให้จองโรงแรมในวันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยผู้ที่ลงทะเบียนผ่านจะได้รับข้อความเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจองโรงแรมภายใน 3 วัน

Advertisement

สำหรับสิทธิที่จะได้รับจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันมี 1.ส่วนลดค่าที่พัก รัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องหรือคืน กำหนดโควต้าคนละ 15 ห้องหรือคืน เดิมมีจำนวนสิทธิ 5 ล้านคืน และเพิ่มให้อีก 1 ล้านสิทธิ 2.คูปองอาหารและท่องเที่ยวสูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวันในวันจันทร์-พฤหัสบดี และสูงสุด 600 บาทต่อวันในวันศุกร์-อาทิตย์ เพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐช่วยจ่าย 40% ตัดจากคูปอง และ 3.สิทธิรับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินในส่วนรัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อผู้โดยสาร (เฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่กำหนด) จำกัดห้องพักละ 2 ที่นั่ง ตามจำนวนห้องพักที่เข้าพักจริง แต่รวมไม่เกิน 30 ที่นั่ง โดยกำหนดจำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินทั้งหมด 2 ล้านสิทธิ

โดยในระยะเริ่มต้นกำหนดให้ใช้โครงการได้ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ก่อนจะขยายเวลาจนใช้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และครั้งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 และเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง จำนวน 1 ล้านสิทธิ

Advertisement

ในช่วงเริ่มต้นโครงการถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดี และมีการจองเข้ามาถล่มทลาย จนถึงวันที่พบความผิดปกติในการใช้สิทธิจองโรงแรมที่พัก และการใช้คูปองต่างๆ เนื่องจากจำนวนห้องพัก 5 ล้านห้องแรก มีผู้ใช้สิทธิจองไปครบ คงเหลือจำนวนศูนย์ห้องในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ก่อนหน้า จำนวนห้องพักยังเหลือกว่า 225,922 คืน ตั๋วเครื่องบิน 1.68 ล้านใบ แต่ได้หมดลงในวันที่ 12 ธันวาคม 2563
ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องประสานกับกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ทำการวิเคราะห์ธุรกรรมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และประสานงานกับสมาคมโรงแรมไทยเพื่อหาทางป้องกันการหลอกลวงในอนาคต

โดยวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีรายชื่อโรงแรมต้องสงสัย รวม 312 แห่ง มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 108,962 คน และร้านค้า ร้านอาหาร 202 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 49,713 คน จากนี้จะเร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด หากพบว่าทุจริตจริงจะต้องถูกถอดออกจากโครงการ ขึ้นบัญชีดำ พร้อมดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา โดยใช้กฎหมายในอัตราโทษขั้นสูงสุด

จากการตรวจสอบ ททท.พบพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริต 6 กรณีเป็นอย่างต่ำ คือ 1.เข้าพักในโรงแรมราคาถูก โดยเฉพาะโฮสเทล มีการเช็กอินผ่านแอพพลิเคชั่นเรียบร้อย แต่กลับไม่ได้พักจริง และได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง (อี-เวาเชอร์) ที่ให้วันละ 600 บาท และวันละ 900 บาทหากพักในวันธรรมดา 2.โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องพักสูงผิดปกติ แถมยังรู้เห็นเป็นใจกับร้านอาหารที่รับคูปอง มีการซื้อขายสิทธิระหว่างกัน โดยที่ไม่เกิดการเดินทางขึ้นจริง 3.โรงแรมมีตัวตนลงทะเบียนถูกต้องแต่ยังไม่กลับมาเปิดบริการกลับมียอดการขายห้องพัก กรณีนี้พบว่ามีการจองตรงผ่านโรงแรมและตัวแทนทางออนไลน์ด้วย 4.มีการใช้ส่วนต่างของคูปองเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวนกรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหาร 5.มีการเข้าพักจริงแบบกรุ๊ปตั้งราคาสูงได้เงินทอนจากโครงการ ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่มีการจองตรงกับโรงแรม และ 6.เปิดให้คนจองเกินกว่าจำนวนห้องพักของโรงแรม ซึ่งทุกกรณีได้มีการตรวจสอบพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ อาทิ การขยายสิทธิห้องพัก ขยายเวลาสิ้นสุดโครงการออกไปอีก

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การป้องกันการทุจริตเข้าร่วมโครงการในอนาคต ขณะนี้ได้ประสานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เบื้องต้นตำรวจจะหาช่องโหว่ทั้งหมดให้เจอ ก่อนที่จะหาวิธีอุดรอยรั่วทั้งหมดนั้น ซึ่งส่วนนี้จะยกให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพราะมีข้อมูลในมือทั้งหมดอยู่แล้ว

สำหรับสาเหตุที่จูงใจให้เกิดการโกงนั้นภาคเอกชนให้ความเห็นว่า เป็นเพราะพื้นฐานของคนไทยบางกลุ่มที่มีนิสัยอยากได้อยากมี โดยที่ไม่สนใจว่าจะเป็นการเอาเปรียบใครหรือไม่ บวกกับต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่พักบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะยังติดเงื่อนไขต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้หากสามารถร่วมกับโรงแรมที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการของรัฐแล้วนำส่วนต่างมาแบ่งกันได้ ก็อาจมองว่าได้แบบนี้ดีกว่าไม่ได้เลย ทั้งที่ความจริงแล้วการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง

จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ และเปิดเผยข้อกำหนดทั้งหมดให้ชัดเจนออกมา รวมถึงการใช้สิทธิที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการโกงต่อไปในช่วงที่ขยายการใช้โครงการจนถึงเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการในช่วงเช้าวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ตำรวจท่องเที่ยว (บช.ทท.) และชุด ศปอส.ตร. ได้กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 55 จุด กวาดล้างขบวนการทุจริตโครงการ เราเที่ยวด้วยกันŽ จับกุมผู้ต้องหา 50 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบกิจการโรงแรม ร้านค้าต่างๆ ใน จ.ชัยภูมิ และ จ.ภูเก็ต

ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีการออกหมายจับผู้ประกอบการในขบวนการ 2 ที่ใน จ.ชัยภูมิ มีหมายจับ 41 คน จับได้ 36 คน และ จ.ภูเก็ต จับได้ 14 คน พร้อมขยายผลดำเนินคดีเพิ่มกับประชาชนที่จงใจร่วมใช้สิทธิในลักษณะทุจริต เบื้องต้นคาดมีมากถึง 9,000 คน ทั่วประเทศ

ด้าน พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.กล่าวว่า ตำรวจกำลังขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า รวมกว่า 800 แห่ง พร้อมสั่งอายัดบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร่วมร้อยบัญชี

โดยการสืบสวนพบการทุจริตหลายรูปแบบ เช่น เปิดให้จองห้องพักแต่ไม่เข้าพักจริง, นำคูปองที่ได้รับหลังเช็กอินห้องพักไปสแกนใช้จ่ายกับร้านค้าแต่ไม่ซื้อสินค้าจริง, บางโรงแรมมีที่ตั้งจริง ลงทะเบียนถูกต้องแต่ยังไม่เปิดให้บริการ กลับมีการเปิดให้จองห้องพัก หรือตั้งราคาจองห้องพักไว้แพงเกินจริง หวังกินส่วนต่างราคาส่วนลด ซึ่งมีการทุจริตกระจายอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดคือ ชัยภูมิ, เลย, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์ และศรีสะเกษ

นอกจากนี้ยังมีการซื้อสิทธิในโครงการโดยให้ค่าตอบแทนรายละ 400-500 บาท เมื่อประชาชนขายสิทธิให้แล้ว ผู้ซื้อสิทธิจะให้เจ้าของสิทธิติดตั้งแอพพ์เป๋าตังก่อน จากนั้นผู้ซื้อสิทธิจะนำเอาโทรศัพท์ของเจ้าของสิทธิไปจองโรงแรมและใช้คูปอง หรือเอาข้อมูลบัตรประชาชนและซิมการ์ดที่ลงทะเบียนแล้วไปขายต่อให้กับผู้สวมสิทธิในราคา 800-1,000 บาท

ทั้งนี้ ททท.จะร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม จากนั้นจะประชุมพนักงานสอบสวนตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการภูธรจังหวัด ไล่ลงมากว่า 100 นาย จากทั่วประเทศ เพื่อรับทราบแนวทางการทำคดีจาก บก.ป.

นับเป็นอีกคดีที่น่าเป็นกลโกงภายใต้สารพันปัญหาบนความเดือดร้อนของประชาชนที่มาจากพิษภัยโควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image