‘เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว’ เปิดมุมมอง ศก.ไทย64

‘เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว’ เปิดมุมมอง ศก.ไทย64  ยังไม่พ้นวิบาก…วัคซีนมาแต่เสี่ยงเจอภัยแล้ง มาตรการยังจำเป็น แต่ต้องชัด‘แจก’หรือ‘กระตุ้น’

“ตอนนี้รัฐบาลออกนโยบายโดยไม่ได้ใส่ยี่ห้อว่านี่คือมาตรการอะไร ทำให้คนสับสนและคาดหวังแตกต่างกันไป..การบอกว่ามาตรการต่างๆ ทำไปเพื่ออะไรเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจุดนี้ควรจัดการให้เร็วที่สุด”

ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อพุ่งสูง ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ พร้อมมาตรการควบคุมเข้มข้น ดับฝันเศรษฐกิจไทยที่เดิมคาดว่า 2564 จะกลับมาเติบโตระดับ 4-4.5%!!

เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำ ประชาชนเดือดร้อนไปมากกว่านี้ รัฐบาลจึงตัดสินใจออกมาตรการเพื่อบรรเทา และเยียวยาประชาชน ทั้งมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต รวมถึงมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน โดยรัฐให้เงิน 7,000 บาทต่อคน ภายใต้โครงการเราชนะ คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 31.1 ล้านคน ใช้กรอบวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการทั้งการพักชำระหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วย

⦁เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวสูงสุด 2.5%
“มติชน” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยระบุว่าสามารถจะขยายตัวได้ที่ 2.5% ต่อปี โดยปัจจัยบวกหลัก คือการใช้นโยบายทางการคลัง และการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้ที่ยังมีเงินอยู่จึงเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 2-2.5% ต่อปี

Advertisement

ในทางกลับกัน ยังมีปัจจัยลบที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่านี้ได้ในอนาคต คือเรื่องของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบันนั้น แม้แต่ประเทศเยอรมนีที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็ง คนของประเทศเขาเองก็บอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจแย่มาก ต้องใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งเจอวิกฤตหนักขนาดนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ดีและมีแนวโน้มที่จะลากยาว

ทั้งนี้ แต่ละปีรายได้ประเทศไทย 100% มาจากการท่องเที่ยวจากต่างชาติ 60-70% แต่พอเศรษฐกิจโลกไม่ดีนักท่องเที่ยวก็เข้ามาน้อยลง หมายความว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร และถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นมากนัก แต่ละประเทศก็ต้องพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศตนเอง ส่งผลให้การส่งออกไทยเติบโตได้ยากขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง ส่วนภาคการท่องเที่ยวต่อให้เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ก็ไม่ได้เพิ่มในทันที ดังนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 2%-2.5% ต่อปี นั้นถือเป็นการคาดการณ์ที่ดีที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจจะลดลงเหลือเพียง 2% ต่อปี หากเจอปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ ภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในปีนี้ อาจส่งผลให้การขยายตัวลดเหลือเพียง 1.5% ต่อปีได้ สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงหลักที่ไทยจะเจอในทางเศรษฐกิจปีนี้

Advertisement

⦁แนะรัฐฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง-ปิดบังใช้กม.คนผิด
นายเกียรติอนันต์แสดงความเห็นประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ อย่างแรกเรื่องการฉีดให้ครบ 67 ล้านคนนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าสามารถเลือกให้เฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงสูงและกลุ่มที่สำคัญที่สุด แค่ 2-3 ล้านโดสแรกก็เพียงพอที่จะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ เนื่องจากตอนระบาดหนักที่สุดของไทย ยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้สูง เพราะมีการป้องกันตนเองที่ดีและอาจเพราะว่าคนไทยมีภูมิต้านทาน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ

ในทางสถิติ การฉีดทั้ง 67 ล้านคน อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทำในทันที ถ้าในการระบาดครั้งแรกของไทย มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนใบไม้ร่วง คงต้องรับการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว แต่พอดูตัวเลขทางสถิติโอกาสในการติดเชื้อจนเสียชีวิตในไทยนั้นต่ำ ดังนั้นจึงไม่มีความเร่งด่วนในการฉีดวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรฉีดให้ครบทุกคน แต่ด้วยเวลาและวัคซีนที่มีอย่างจำกัด อาจเลือกฉีดวัคซีนให้คนบางกลุ่มก่อนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากวัคซีนการป้องกันการระบาดแล้ว มาตรการสำคัญที่ควรทำควบคู่ไปด้วย คือมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด สำหรับคนที่ไม่ป้องกันตนเองและก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งน่ากังวลกว่า

“มาตรการวัคซีนทางสาธารณสุขนั้นยังไม่เป็นผลเท่าวัคซีนทางกฎหมาย ถ้ากฎหมายมีความเข้มข้นจะช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้เยอะ ถ้าใครผิดก็ต้องเอาผิดให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นตัวอย่าง และช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้ เพราะแต่ละครั้งเกิดจากกลุ่ม (คลัสเตอร์) ที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่เพราะคนไทยไม่มีการป้องกัน ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรทำคือการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ทั่วหน้า ทั่วถึง เป็นธรรม และฉับไว กฎหมายการควบคุมการแพร่ระบาดนั้น อาจจะสำคัญกว่าการมีวัคซีนสำหรับทุกคนเสียด้วยซ้ำ” นายเกียรติอนันต์ระบุ

⦁อานิสงส์วัคซีน ท่องเที่ยวเริ่มฟื้น

นายเกียรติอนันต์ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลคาดการณ์ช่วงปลายปีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อาจจะดีขึ้นและจะมีนักท่องเที่ยวกลับมานั้น เห็นด้วยบางส่วน เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายของไทย ประเทศต้นทางได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรของตนเองเพียงพอหรือยัง และวัคซีนที่ฉีดไปแล้วสามารถป้องกันเชื้อคนละสายพันธุ์ได้หรือไม่ นี่คือประเด็นที่ยังไม่ทราบผลที่แน่ชัด

เพราะฉะนั้นเชื่อว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยบ้าง แต่จะมาอย่างระมัดระวัง และไม่ได้เข้ามาทีเดียวพร้อมกัน 30 ล้านคนตามที่เคยเข้ามา จะมาแค่กลุ่มเล็กเท่านั้น แม้ว่าไทยควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่งแต่หลังจากที่องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับไวรัสโควิด-19 ให้เป็นการระบาดครั้งใหญ่อาจต้องใช้เวลาถึง 10-18 เดือนกว่าสถานการณ์จะปกติ ดังนั้นการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ หากภายในปลายปี 2564 ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงได้ครบหมด กับมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นเป็นไปได้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศอาจจะกลับมาคึกคัก และคนไทยอาจจะกล้าใช้เงินมากขึ้น ซึ่งกำลังซื้อที่ทุกคนเก็บไว้รอใช้อาจจะกลับคืนมาจึงมองว่ามีโอกาสที่การบริโภคภายในประเทศอาจจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในไทยเท่าไร ไม่อาจเดาได้เพราะปัจจัยเสี่ยงทั้งภายใน-ภายนอกมีมาก ต่อให้ไทยควบคุมโควิด-19 ได้และเปิดประเทศแล้ว แต่คงไม่ได้ขอวีซ่าเข้ามาทันที เพราะสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแย่ตามไปด้วยเหมือนกัน จึงยังไม่ทราบว่ากำลังซื้อของกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนและจะมีเงินพอมาท่องเที่ยวหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่กล่าวถึงน้อย แต่สำคัญไม่แพ้กัน คือประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม มีมุมมองแบบเดียวกับไทยว่าหากทุกอย่างดีขึ้น การหารายได้หลักคือส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เพราะการท่องเที่ยวทำให้เงินถึงมือคนทันที เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าที่กว่าจะได้เงินต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นไทยจะต้องแข่งขัน แย่งชิงเรื่องนักท่องเที่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังไม่ทราบว่าถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้น ไทยจะมีกำลังเพียงพอแย่งนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้แค่ไหน

⦁แนะรัฐสื่อสารมาตรการถึงกลุ่มเป้าหมาย

นายเกียรติอนันต์แสดงความเห็นด้วยว่า มาตรการที่ผ่านมาของรัฐบาล อาจล้มลุกคลุกคลาน ไม่ตรงกลุ่มบ้างทำให้รัฐบาลโดนโจมตี แต่ต้องมองว่าเหตุการณ์โควิด-19 ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน ไม่รู้ว่าจะเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังซื้อเป็นศูนย์ ดังนั้นการลองของรัฐบาลครั้งแรกแล้วผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ หลายประเทศทดลองต่างล้มเหลวคล้ายกัน หลังจากนั้นมาตรการจะเริ่มตรงจุดมากขึ้น แต่เจอปัญหาความไม่ทั่วถึงแทน ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลออกแบบมาตรการมาหลายชุด แล้วนำมากางให้ประชาชนได้เห็นว่ามีมาตรการที่ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันและครบถ้วน อาจทำให้เกิดความทั่วถึงได้

การที่รัฐบาลออกมาตรการทีละชุด คนที่ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายและไม่ได้เงิน จะรู้สึกว่าทำไมไม่ได้รับการเยียวยาเสียที จึงอยากเห็นชุดมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเฉพาะกลุ่ม คลี่ออกมาพร้อมกันว่าคนนี้กลุ่มนั้นจะได้รับอะไรบ้าง อาทิ โครงการคนละครึ่งใช้กลยุทธ์ดึงให้คนใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น รัฐช่วยออกครึ่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นมาตรการที่ช่วยคนมีรายได้น้อยเพียงแต่เอาเงินล่อเงินเพื่อที่จะกระตุ้นให้คนเอาเงินมาใช้มากขึ้น

มาตรการหนึ่งที่ควรทำ คือการช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ปิดโรงเรียน ให้เรียนออนไลน์จากบ้าน ผู้ปกครองต้องดูแลลูกเอง รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้หรือเงินชดเชยเงินสนับสนุนพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูก มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการเรียนออนไลน์

“การออกมาตรการต้องระบุว่าทั้งประเทศ 67 ล้านคนมีคนเดือดร้อนจริงกี่คน แต่ละคนเดือดร้อนแบบไหน แต่ละกลุ่มคนควรใช้นโยบายอะไร ใช้การเยียวยาหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการสื่อสารไม่ดีหรือไม่ จึงทำให้คนสับสน แล้วนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาประเมินด้วยมาตรฐานของการเยียวยา ทำให้คิดว่าการเยียวยาต้องทั่วถึง จึงอยากให้มีการสื่อสารที่ชัดเจนว่านี่คือการเยียวยาหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายเกียรติอนันต์เน้นย้ำ

รัฐบาลควรเริ่มต้นสื่อสารเชิงเศรษฐกิจให้ดี ให้คนเข้าใจทั่วกัน และออกนโยบายที่แยกกันให้เห็นชัดว่านี่คือนโยบายเชิงสังคม ที่ต้องเท่าเทียมและทั่วถึง ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือการกระตุ้นคนที่มีเงินซื้อจับจ่ายให้เงินหมุนได้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้รัฐบาลกลับออกนโยบายโดยไม่ได้ใส่ยี่ห้อให้ว่านี่คือมาตรการอะไร ทำให้คนสับสนและคาดหวังแตกต่างกันไป อาทิ มาตรการช้อปดีมีคืน ที่ลดหย่อนภาษีที่ได้ 30,000 บาท ก็มีคนโจมตี แต่แท้จริงแล้วรัฐบาลกำลังจับกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่พอจะออกมาใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยได้ จึงอยู่ที่รัฐบาลในการสื่อสารนโยบายเชิงเศรษฐกิจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะการสื่อสารนั้นมีพลังมากที่สุด และการที่รัฐบาลออกมาบอกว่ามาตรการต่างๆ ทำไปเพื่ออะไรเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจุดนี้ควรจัดการให้เร็วที่สุด

⦁คนละครึ่งเมนูเก่ากับเราชนะที่ครอบคลุม

นายเกียรติอนันต์ระบุอีกว่า สำหรับมาตรการเราชนะการช่วยรอบนี้น่าจะดี และอยากเห็นกระบวนการคัดกรอง 30 กว่าล้านคน ว่ามีกลุ่มเป้าหมายอย่างไร เจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือยัง ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่รัฐบาลเก็บไว้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาหรือไม่และเกณฑ์การคัดเลือกเป็นอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพียงแต่เงิน 7,000 บาท ที่เติมลงไปจะทำให้เกิดการหมุนของเงินต่อไปได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงน้ำซึมบ่อทราย ถ้าเกิดลงไปถึงคนเดือดร้อนจริง ก็ช่วยได้เยอะ แต่หากเป็นการหว่านแหให้ครบ 30 ล้านคน ส่วนนี้น่ากังวล

ส่วนการที่ไม่ให้เป็นเงินสดนั้น มองว่าดีแล้ว เพราะถ้าให้เงินสด คนอาจจะนำไปใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น มีบทเรียนจากโครงการลักษณะนี้มาก่อน คนนำเงินไปใช้ไม่ถูกที่ถูกทาง การควบคุมเงินให้ไหลถูกทิศทาง คือสิ่งสำคัญ เพราะถ้าคนต้องการอุปโภคบริโภคจริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด หรือถ้าลองแล้วมันไม่ได้ผลในเดือนแรกอาจจะปรับให้มีบางส่วนใช้เป็นเงินสดได้บ้าง เช่น ใน 7,000 บาท บังคับใช้ผ่านเพย์เมนต์ 6,000 และอีก 1,000 บาท ผ่อนปรนเป็นเงินสด เป็นต้น ถ้าผ่อนปรนได้คนละครึ่งทาง ทำให้รู้สึกมั่นใจว่ามีเงินสดติดกระเป๋า ส่วนนี้ก็สำคัญ อาจจะทำให้บางคนมีความสุขกับนโยบายนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ การให้เงินสดอย่างเดียว น่ากังวลว่าจะเกิดเป็นน้ำซึมบ่อทราย ที่เงินไหลไปสู่บางธุรกิจแล้วกระจายตัวไปสู่ที่อื่น ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ เช่น ถ้านำเงินทั้งหมดไปซื้อกระเป๋าซักใบ หรือดาวน์มอเตอร์ไซค์ หรือไปกินร้านอาหารของต่างชาติเงินที่ได้ไป 100 บาท อาจจะอยู่ในประเทศเพียงแค่ 20 บาท ส่วนที่เหลือก็ไหลออกไปหมด ทำให้เกิดการสูญเงิน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลคุมและทำให้เงินหมุนอยู่ในประเทศนานขึ้น อันนี้คือเรื่องที่ดี เพียงแต่อยู่ที่วิธีการสื่อสารและการกระตุ้น ถ้ามีคนใช้น้อยก็ไม่เป็นไร แต่ต้องคิดว่าเมื่อกระสุนนัดแรกของการคลังใช้ได้น้อย ควรเตรียมนัดที่สองตามมา เหมือนเป็นการให้ยาตัวแรกทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่ดียาตัวต่อไปที่เตรียมไว้คืออะไร รัฐบาลต้องมีคำตอบเหล่านี้ไว้ในใจแล้วเพื่อการวางระบบที่ดี

ส่วนโครงการคนละครึ่ง ถ้าหากขยายต่อเฟส 3 มองว่า นโยบายอะไรที่ใช้ซ้ำหลายครั้ง ประสิทธิภาพในครั้งต่อไปจะลดลง การที่คนละครึ่งเฟสแรก ได้ผลตอบรับดี เป็นเพราะคนยังมีเงินสดอยู่ในมือ แต่ถ้าต่อเป็นเฟสต่อเนื่องกัน แล้วต่อไปเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงินในกระเป๋า แต่กระตุ้นคนละครึ่ง เงินอีกครึ่งหนึ่งในกระเป๋าของประชาชน อาจไม่พอ ทำให้โครงการไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือนกับเฟสแรกหรือเฟส 2 เพราะฉะนั้นจะต้องมีนโยบายอื่นๆ มาเสริมเพื่อให้คนมีเงินในกระเป๋า แล้วค่อยใช้คนละครึ่งเป็นนโยบายเสริมอีกแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์ตอนนี้คนเริ่มไม่ค่อยใช้เงิน ระมัดระวังการใช้มากขึ้น

“ขณะนี้ประชาชนเริ่มเรียนรู้ว่าเมื่อโควิด-19 มีการระบาดรอบสอง อาจมีครั้งที่สาม และครั้งอื่นตามมา เพราะฉะนั้นคนจะระวังการใช้เงินเป็นอย่างมาก แต่โครงการคนละครึ่งยังเป็นนโยบายที่ดีแต่ประสิทธิผลอาจจะไม่ได้ดีเหมือนครั้งแรก ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลคิดเมนูใหม่ๆ หรือมาตรการใหม่ๆ เข้ามารองรับดูแลมาตรการเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นายเกียรติอนันต์ทิ้งท้าย

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image