เอกชนยางล้อวอนรัฐทำสัญลักษณ์สินค้าสากล สร้างความน่าเชื่อถือตลาดโลก

นายฟินบาร์ โอคอนเนอร์ นายกสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทยและคณะ เปิดเผยภายหลังเข้าพบ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า เอกชนต้องการให้กระทรวงฯ พัฒนาคุณภาพยางเพื่อให้เจาะตลาดต่างๆได้มากขึ้น โดยขณะนี้ทางสมาคมส่งออกยางไปยังประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศทั่วโลก และส่งออกในอาเซียน ดังนั้นหากภาครัฐมีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกิดการ ผลิตที่เป็นมาตรฐานสากลจะช่วยให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้สมาคมฯมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยางล้อ ระดับโลก 6 ราย ใช้ยางในการผลิตรวม 50 ล้านตันต่อปี ตลาดส่งออกที่สำคัญ อาทิ อเมริกา ยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย

“ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อต้องปรับตัวตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นภาคเอกชนคาดหวังให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพการลงทุนในประเทศ มีการดำเนินตามนโยบายที่ประกาศอย่างเคร่งครัด และพัฒนามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับ สากล”นายฟินบาร์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม (สมอ.) มีการติดตามมาตรฐานยางล้อและปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้เป็นไปตามสากลแล้วและ สมอ.กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก.ไว้ที่ยางล้อด้วย ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต้องทำสัญลักษณ์อีมาร์ค ที่ยอมรับในยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการร้องเรียนว่ามีความยุ่งยาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแยกผลิตทั้ง 2 แบบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงอยากให้ออกเป็นมาตรฐานเดียวกันกับสากล

นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ ประธานด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯ มีความต้องการใช้ยางพาราประมาณ 4 แสนตันต่อปี เพื่อผลิตยางล้อจำหน่ายในประเทศประมาณ 20 ล้านเส้น คิดเป็น 30% และส่งออกประมาณ 60 – 70 ล้านเส้น หรือคิดเป็น 70% ซึ่งภาพรวมการส่งออกในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตกว่า 5% และคาดว่าภาพรวมทั้งปีจะเติบโตที่ 5% โดยตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญ ปัจจุบันอันดับการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่อับดับที่ 5 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมนี ขณะที่เกาหลีใต้ลดลงจากอันดับที่ 5 มาอยู่ที่อันดับที่ 6

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image