“โควิด” ดันความต้องการคลังสินค้า-รง.ให้เช่าเพิ่ม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใช้มากสุด

“โควิด” ดันความต้องการคลังสินค้า-รง.ให้เช่าเพิ่ม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใช้มากสุด

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าบางส่วน จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 แต่พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ยังสามารถปล่อยเช่าคลังสินค้าและโรงงานได้มากกว่า 100,000 ตารางเมตร และมีอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโลจิสติกส์ ตามการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (WFH)และธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่า ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เน้นรักษาระดับราคาค่าเช่าเดิมไว้ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและเน้นรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิม สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าจีน ยังคงสนใจขอเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่อีอีซียังคงมีอัตราการเช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากกลุ่มลูกค้าในภาคธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเภสัชกรรม เป็นต้น

“ลูกค้าชาวต่างชาติยังคงมีการติดต่อขอเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณเด่นชัดตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้นักลงทุนจีนมองหาแหล่งผลิตและฐานกระจายสินค้าใหม่ในประเทศไทยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจให้เช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้า แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีอุปทานเปิดใหม่ของคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และอีอีซี แต่คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ยังคงมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2564 จะมีโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเปิดบริการใหม่อีกกว่า 500,000 ตารางเมตร”นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ณ สิ้นครึ่งหลังปี พ.ศ. 2563 คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่า แม้ว่าจะไม่มีอุปทานเปิดตัวใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกและในประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและสภาพการดำเนินงานในตลาดโลก รวมถึงมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดยังคงให้ความสนใจพัฒนาคลังสินค้าให้เช่า เพื่อรองรับความต้องการใช้พื้นที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าของลูกค้าในช่วงอีก 1-2 ปีข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ ถนนบางนา-ตราด และย่านเทพารักษ์ บนพื้นที่รวมกว่า 150 ไร่ และสามารถพัฒนาเป็นโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าประมาณ 150,000 ตารางเมตร และในพื้นที่อีอีซีอีกกว่า 300,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ. 2564

นายภัทรชัยกล่าวว่า ณ สิ้นครึ่งหลัง ปีพ.ศ. 2563 อุปทานสะสมพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการยังคงสูงที่สุด คิดเป็น 38% หรือ 2,691,6022 ตารางเมตร ตามมาด้วยในพื้นที่อีอีซี คิดเป็น 32 % หรือ 2,255,517 ตารางเมตร และยังคงพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงพยายามขยายธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2564 จะมีคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเปิดบริการใหม่อีกกว่า 500,000 ตารางเมตร และส่วนใหญ่พัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดเช่น บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี(จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา) หลังจากความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่น่าจับตามองในอนาคตอันใกล้

Advertisement

ครึ่งปีหลัง 2563 มีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในประเทศไทยถูกใช้ไปแล้วทั้งหมด 6.092 ล้านตารางเมตรจากพื้นที่ทั้งหมด 6.963 ล้านตารางเมตร ซึ่งคิดเป็น 87.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% จากในช่วงครึ่งแรกของปี ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เน้นการรักษาลูกค้าเดิมไว้และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าไว้ ซึ่งการใช้พื้นที่ใหม่ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากการขยายพื้นที่เช่าของลูกค้าเดิมเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในพื้นที่กรุงเทพฯยังคงเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเช่าที่สูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 90.7% ของพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด รองลงมาคือในพื้นที่จังหวัดสมุทรปรากา รซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการทางด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้า โดยพบว่ามีอัตราการเช่าอยู่ที่ประมาณ 91% ตามด้วยพื้นที่อีอีซี ที่มีอัตราการเช่าอยู่ที่ 78.2% ซึ่งพบว่า อัตราการเช่าในพื้นที่อีอีซียังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากกลุ่มลูกค้าในภาคธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเภสัชกรรม เป็นต้น” นายภัทรชัยกล่าวและว่า ธุรกิจช้อปออนไลน์ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4-5% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ มีการเติบโตสูงถึง 35% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท ซึ่งตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดดแม้ในช่วงของการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ Customer Journey เปลี่ยนไปสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นเสมือนตัวเร่งให้กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ มีอัตราการเติบโตสูงที่ขึ้นเช่นเดียวกัน สอดรับกับความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และความต้องการโรงงานและคลังสินค้าในไทยที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในปีพ.ศ. 2564 คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยคาดการณ์ว่า จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาบางธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัวและกระทบต่อภาพรวมธุรกิจของผู้พัฒนาในภาคอุตสาหกรรมบ้าง แต่ในปี พ.ศ. 2564 คาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มกลับมาทยอยลงทุนอีกครั้ง หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่อีกครั้งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่รัฐบาลสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เริ่มกลับมาเปิดประเทศทำให้การติดต่อค้าขายกลับมามากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ยืดเยื้อ ความล่าช้าของวัคซีน สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน และปัญหาค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image