“เครือซีพี”เดินหน้าขับเคลื่อนบรรษัทภิบาลด้าน Diversity&Inclusion เปิดรับความคิดและเพศสภาพที่แตกต่าง

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) กล่าวว่า ภายใต้นโยบายบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้น ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการดำเนินงานด้าน Diversity and Inclusion หรือ “ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน” เนื่องจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมและมีพนักงานกว่า 3.5 แสนคนใน 22 ประเทศทั่วโลก จึงมีพนักงานที่มีความหลากหลายในมิติต่างๆ ทั้งอายุ เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนาและอื่น ๆ ซึ่งพนักงานที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันนี้คือพลังสำคัญที่จะสร้างคุณค่าให้กับองค์กร โดยเฉพาะการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ตลอดจนเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงและองค์กรที่แข็งแกร่ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“22 ประเทศที่เครือซีพีเข้าไปทำธุรกิจ มีบุคลากรสัญชาติต่างๆ จากทั่วโลกประมาณ 50 – 60 ประเทศ เราพยายามปรับกระบวนการทำงานให้บุคลากรเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อดึงเอาไอเดียจากความหลากหลายแตกต่างนี้มาผนึกกำลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับเครือฯ เราจึงเชื่อว่า Diversity and Inclusion มีส่วนช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ” ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพีกล่าว

นายนพปฎลกล่าวต่อด้วยว่า คน ถือเป็นทรัพยากรที่เครือซีพีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ ที่ผ่านมาอาจไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเพศสภาพ แต่ด้วยวันนี้สภาพสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป และคนมีการแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้น เครือฯคิดว่าทำไมไม่ใช้ความแตกต่างนี้ให้เกิดคุณค่า จึงเริ่มจากการจัดโฟกัสกรุ๊ปกับทุกกลุ่ม นำผลที่ได้ (Feedback) มากำหนดนโยบายของเครือซีพีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานบุคคลให้มีความเหมาะสมตั้งแต่การเริ่มต้นสรรหา การดูแลระหว่างการเป็นพนักงาน จนกระทั่งพนักงานลาออกจากงาน โดยปัจจุบันเครือซีพีให้ความสำคัญจนพัฒนาไปถึงการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคล รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของเครือซีพี

“การออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องปฏิบัติต่อทุกคนตามสิทธิ คุณค่าและความสามารถที่เขาให้กับส่วนรวม ทั้งการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศสภาพใดอย่างไรก็ตาม”นายนพปฎลกล่าว

Advertisement

นายนพปฎลกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินการให้ Diversity and Inclusion หรือความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องทำสองอย่าง คือ “Push” และ “Pull” เมื่อออกนโยบายแล้ว ต้องมีการติดตามดูแล หากไม่ทำตาม ก็ต้องลงโทษ เมื่อมีการปฏิบัติตาม ควรให้กำลังใจ พร้อมอธิบายเหตุผล วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวเราเอง จะเห็นว่าความแตกต่างหรือความหลากหลายสามารถนำไปสู่การพัฒนา สร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและพนักงาน สิ่งที่ต้องปลดล็อคคือต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์และเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวัน

นายนพปฎลกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแบ่งปันแนวทางการดำเนินงานของเครือฯ รวมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของเครือฯ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในการประกอบกิจการของบริษัท รวมทั้งในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ

“ขณะนี้กำลังดำเนินงานผ่านการพัฒนาระบบการพัฒนาและฝึกอบรมผ่าน e-learning เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวนโยบายดังกล่าว โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลาย การไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงความแตกต่างทางเพศ และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้วย”นายนพปฎลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image