คนไทยกลัวตกงาน-รายได้วูบ กดดัชนีการครองชีพครัวเรือนไทยร่วง!!

โควิด-19 ระลอกใหม่ฉุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือนม.ค. 64 ให้ลดลงจากเดือนก่อน แต่ระดับดัชนียังสูงกว่าการระบาดรอบแรก เผยคนไทยกังวลรายได้-การจ้างงานเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในเดือนม.ค. 2564 ภาคครัวเรือนยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพโดยรวมทั้งในปัจจุบันและอีกสามเดือนข้างหน้า โดยดัชนีปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.2 และ 38.8 ตามลำดับ จาก 40.2 และ 40.7 ในเดือนธ.ค. 2563 หลังในเดือนม.ค. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาจากการค้นหาเชิงรุกในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลให้มาตรการควบคุมการระบาดกลับมาถูกประกาศใช้อีกครั้ง แต่ไม่ได้มีความเข้มงวดเท่ากับมาตรการที่ใช้ในการระบาดรอบแรก โดยมีแบ่งตามเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนที่กำลังเริ่มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะชะงักชะงันอีกครั้ง รวมถึงแรงงานบางส่วนได้เผชิญกับปัญหาขาดแคลนรายได้จากการทำงาน หรือ รายได้ลดลงจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราการว่างงานในเดือนธ.ค.2563 ที่แม้จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.5% จาก 2% ในเดือนพ.ย. 2563

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงานรวมถึงไม่ได้รับค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อภาวะการมีรายได้และการมีงานทำ โดยองค์ประกอบของดัชนีด้านรายได้ในเดือนม.ค.64 ลดต่ำลงอยู่ที่ 38.7 จาก 46.9 ในเดือนธ.ค. 63 ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่ฐานะทางการเงินของภาครัวเรือนมีความอ่อนแออยู่เดิมหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดในรอบแรก

แม้ว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนม.ค. 64 จะลดต่ำลงอย่างมาก แต่ระดับของดัชนียังอยู่สูงกว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดในรอบแรก (เม.ย.2563) ที่อยู่ที่ 35.1 สอดคล้องกับผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้สอบถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเทียบกับการระบาดในรอบแรก โดยส่วนมาก (44%) ระบุว่าได้รับผลกระทบปานกลาง หมายถึงได้รับผลกระทบบ้าง โดยมีความเคยชินกับวิธีรับมือและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่อีก 34% ระบุว่าได้รับผลกระทบมาก (วิตกกังวลเหมือนกับการระบาดรอบแรก/ใช้ชีวิตที่บ้าน) อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเพิ่มเติมครัวเรือนบางส่วนยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการถูกลดเวลาการทำงานทำให้สูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังของภาคครัวเรือนในอนาคต ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ADVERTISMENT

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวผลกระทบมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยโครงการส่วนใหญ่จะเริ่มขึ้นในเดือนก.พ. 2564 นี้ ทั้งโครงการเราชนะ (ให้เงินช่วยเหลือ 3,500 บาทเป็นระยะเวลา 2 เดือนแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระดับประกันสังคมมาตรา 33 และ 39) การลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าอินเทอร์เนตเป็นระยะเวลา 2 – 3 เดือน) รวมถึงโครงการเรารักกัน (ให้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาท แก่แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรการ 33) นอกจากนี้ยังได้ขยายสิทธิ์โครงการคนละครึ่งเพิ่มเติม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความต้องการของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจ พบว่า โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐส่วนใหญ่ที่ออกมาเป็นไปตามความต้องการของครัวเรือนไทย โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการแจกเงินเยียวยาวมากที่สุด (50.6%) ทั้งนี้ มาตรการที่ครัวเรือนไทยต้องการเพิ่มขึ้นจากการระบาดในครั้งก่อน คือ มาตรการอุดหนุนเงินแก่บริษัทเพื่อรักษาการจ้างงาน จึงยังคงต้องติดตามมาตราการเยียวยาต่าง ๆ ของภาครัฐในระยะต่อไป

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากในเดือนก่อน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากการค้นหาเชิงรุกเริ่มลดน้อยลง ขณะที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การขยายเวลาการเปิดร้านอาหาร และฟิตเนสที่เริ่มกลับมาเปิดได้ นอกจากนี้ความหวังเรื่องวัคซีนที่จะเริ่มเข้ามาในช่วงเดือนก.พ. จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงมีความจำเป็นจนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นพฤติกรรมต่าง ๆ ของประชาชนจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

ADVERTISMENT

โดยสรุปแล้วดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ธ.ค. 2563) และ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำในประเทศอีกครั้ง แม้ว่าผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในรอบนี้จะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าในรอบก่อน รวมถึงครัวเรือนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาได้รวดเร็ว แต่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยยังมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image