อินฟราฟัน : ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ โฉมใหม่ของสถานีบางซื่อ

อินฟราฟัน : ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ โฉมใหม่ของสถานีบางซื่อ

อินฟราฟัน : ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ โฉมใหม่ของสถานีบางซื่อ

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก อินฟราฟัน พาทุกคนไปรู้จักกับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) กันมากขึ้น มาในสัปดาห์นี้ จะลงไปเจาะลึกถึงความพร้อมของตัวสถานีหลัก อย่างสถานีกลางบางซื่อ ที่ปัจจุบันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเตรียมทดสอบเดินรถเสมือนจริง รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ-รังสิต ในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเดือนพฤศจิกายน 2564

จากไทม์ไลน์ดังกล่าว เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีที่ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (อีทีซีเอส) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานในการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟ (เอทีพี) โดยจะติดตั้งบนหัวรถจักรปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบควบคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะเบรกอัตโนมัติ เพื่อให้รถไฟชานเมืองของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด สามารถให้บริการรองรับระบบภายในสถานีกลางบางซื่อได้ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.นำร่องติดตั้งระบบเอทีพีกับรถไฟดีเซลเสร็จแล้ว 2 คัน

อีกทั้ง ร.ฟ.ท.มีแผนติดตั้งระบบเอทีพี เพื่อปรับปรุงรถไฟดีเซล รองรับการใช้สถานีกลางบางซื่อ เบื้องต้นกำหนดแผนติดตั้งระบบดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะ รวม 177 คัน แบ่งเป็น ระยะ 1 จำนวน 120 คัน ประกอบด้วย นำรถจักรดีเซลในปัจจุบัน จำนวน 70 คัน มาติดตั้งระบบเอทีพี เร่งรัดแล้วเสร็จระหว่างปี 2564-2566 และทยอยรับมอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ 50 คัน รวมวงเงินกว่า 6.5 พันล้านบาท จะทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี 2565

Advertisement

ส่วนระยะที่ 2 จะทยอยปรับปรุงหัวรถจักรของ ร.ฟ.ท. เพิ่มเติมอีก 57 ขบวน เนื่องจากปัจจุบันหัวรถจักรดังกล่าว อยู่ระหว่างทยอยปรับปรุงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ตามแผนเมื่อมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ก็จะติดตั้งระบบเอทีพี คู่ขนานไปด้วย เพื่อพร้อมต่อการให้บริการ อย่างไรก็ตาม จากแผนที่กำหนดในเบื้องต้น ร.ฟ.ท.มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการให้บริการ รองรับการเปลี่ยนแปลงระบบ พัฒนารถไฟไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

อย่างไรก็ดี ระบบอีทีซีเอส จะเข้ามาช่วยยกระดับความปลอดภัยให้กับการขนส่งระบบบรางในประเทศไทย เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถคำนวณความเร็วสูงสุดที่ปลอดภัยสำหรับรถไฟแต่ละคัน โดยมีระบบอาณัติสัญญาณเตือนในห้องพนักงานขับรถไฟ และระบบออนบอร์ดที่ทำการบังคับรถไฟหากมีการใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราความปลอดภัยกำหนดได้ดียิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คงทำให้ไทยไปสู่จุดหมายฮับระบบรางใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้โดยไม่ยาก!!!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image