“สุริยะ”ดึงบิ๊กเอกชนปั้นสตาร์ตอัพ ตั้งเป้าขยายลงทุน 500 ล้านบาท

“สุริยะ”ดึงบิ๊กเอกชนปั้นสตาร์ตอัพผ่าน 4 มาตรการลงลึก ตั้งเป้าขยายลงทุน 500 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ คอนเนค ให้เข้าถึงตลาด และสนับสนุนนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ตอัพ ที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีเชิงลึก คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการร่วมลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 ล้านบาท จากปี 2563 นำร่องคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจำนวน 6 ราย นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุนและบริษัทร่วมลงทุน โดยบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช หนึ่งในนักลงทุนที่สนใจและร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท

นายสุริยะ กล่าวว่า กสอ.ได้ดำเนินการ 4 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย 1.ขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ เฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ต่อยอดพัฒนาทักษะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกิจกับนักลงทุน 2.ขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ 3.ขยายเครือข่ายตลาด ผ่านกระบวนการทดลองการทำการตลาดในประเทศ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุความต้องการของผู้บริโภคทั้งยังช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคง และ 4.ขยายเครือข่ายนานาชาติ เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอในการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติ ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการการันตีให้กับนักลงทุนถึงคุณภาพของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจากกสอ.

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกสอ. กล่าวว่า การขยายผลการดำเนินงานโครงการสตาร์ตอัพ คอนเนค ในปี 2564 มีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น 25 รายจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ราย โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้น อาทิ การศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ การประเมินศักยภาพตลาดกลยุทธ์และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการขยายตลาด การประเมินศักยภาพเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับแผนการตลาดและการเติบโตของธุรกิจ รวมทั้งการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ เพื่อการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอที่จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ กับหน่วยงานเครือข่ายและบิ๊ก บราเทอร์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) และ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) อีกทั้งได้มีโอกาสนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุน เพื่อให้สตาร์ตอัพเหล่านี้ได้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจต่อไป

“เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างมูลค่าการร่วมลงทุนของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 ล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และก่อให้เกิดการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีศักยภาพต่อไป”นายณัฐพลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image